รัฐบาลได้ปฏิรูประบบบำนาญไทย ด้วยการปรับสูตรคำนวณบำนาญข้าราชการของกรมบัญชีกลางเมื่อปี 2540 เนื่องด้วยแนวโน้มของสังคมผู้สูงวัยที่ทำให้จำนวนข้าราชการบำนาญเพิ่มขึ้น มีอายุขัยยืนยาวขึ้น ประกอบกับในช่วงเวลาดังกล่าว ประเทศไทยได้เผชิญกับพิษวิกฤติเศรษฐกิจ รัฐบาลจึงมีความจำเป็นต้องปฏิรูประบบบำนาญไทย เพื่อป้องกันปัญหาขาดหลักประกันยามเกษียณของข้าราชการในอนาคต
ด้วยเหตุนี้ "กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ" (กบข.) จึงได้ถูกจัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2540 (ตามพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539) เพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำเหน็จบำนาญ และให้ประโยชน์ตอบแทนการรับราชการแก่ข้าราชการเมื่อออกจากราชการ โดยกำหนดให้ข้าราชการที่รับราชการก่อนวันที่กฎหมายมีผลบังคับใช้ คือวันที่ 27 มีนาคม 2540 สามารถเลือกได้ว่าจะสมัครเป็นสมาชิก กบข. หรือไม่ สำหรับข้าราชการที่เข้ารับราชการหลังวันดังกล่าว ต้องเข้าเป็นสมาชิก กบข. ทุกคนตามที่กฎหมายกำหนด
ภารกิจหลักของ กบข. คือ การนำเงินสะสมของสมาชิกและเงินที่รัฐสะสมไปลงทุนให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด ด้วยนโยบายการลงทุนที่หลากหลาย ทั้งตราสารทุน ตราสารหนี้ และการลงทุนทางเลือก ตลอดจนส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการลงทุน และจัดหาสวัสดิการและสิทธิประโยชน์แก่สมาชิก โดยเงินส่วนที่สมาชิกจะได้รับคืนจาก กบข. เมื่อสิ้นสุดสมาชิกภาพ ประกอบด้วย เงินสะสม เงินออมเพิ่ม(ถ้ามี) เงินสมทบ เงินชดเชย เงินประเดิม(ถ้ามี) รวมทั้งเงินที่ได้รับจากผลตอบแทนของการลงทุน และกรมบัญชีกลางจะเป็นผู้จ่ายเงินบำเหน็จบำนาญให้สมาชิกเมื่อเกษียณอายุราชการ
???? สมาชิกสามารถอ่านรายละเอียดเรื่อง “เงินส่วนใดบ้างที่ กบข. และกรมบัญชีกลาง เป็นผู้ดูแล” ได้เพิ่มเติมที่โพสต์นี้ คลิก
https://bit.ly/3Bbw2za