คลังอนุมัติสรรพากรกู้เงิน 2 พันล้านลงทุนระบบไอทีและจัดบุคลากรเพิ่มอีก 2 พันคน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษี คาดเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้นกว่าปีละ 3 แสนล้านบาท
เมื่อวันที่ 28 ก.พ. นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยถึงแผนการลงทุนในระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีว่า ขณะนี้ระดับนโยบายได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ขั้นตอนขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติของคณะกรรมการด้านคอมพิวเตอร์ของกรมสรรพากร เมื่อพิจารณาเสร็จจะเข้าสู่กระบวนการกู้เงิน ซึ่งสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะได้กันเงินกู้ค้ำประกันไว้ให้แล้วจำนวน 2,000 ล้านบาท
ทั้งนี้ เงินกู้ 2,000 ล้านบาทดังกล่าว จะแบ่งเป็นพัฒนาใน 2 โครงการหลัก คือ 1.โครงการเชื่อมโยงใบกำกับภาษี และ 2.โครงการชำระภาษีเงินด้วยเงินสด คาดว่าจะใช้เวลาในการพัฒนาระบบประมาณ 1 ปี หลังจากดำเนินการกู้เงินแล้วเสร็จ
“เราเห็นความสำเร็จในวิธีการนี้ในหลายประเทศ และต้นแบบที่เราดูมาจากประเทศเกาหลี ก็สามารถเพิ่มตัวเลขได้มาก โดยการลงทุนในระบบเชื่อมโยงใบกำกับภาษี 1 พันล้านบาท แล้วได้ภาษีมาหลายแสนล้านก็เกินคุ้มแล้ว แต่ต้องทำควบคู่ไปกับการฝึกบุคลากร ซึ่งเราก็ขอเพิ่มกำลังคนอีกจำนวน 2,000 คน เพื่อรองรับการนำระบบดังกล่าวมาใช้ด้วย” นายสาธิต กล่าว
นายสาธิต กล่าวว่า เมื่อระบบการเชื่อมโยงใบกำกับภาษีแล้วเสร็จ จะทำให้มีรายได้จากภาษีต่างๆ ประมาณ 300,000 ล้านบาท หรือมากกว่านั้น แต่ในปีแรกที่เริ่มดำเนินการอาจได้ภาษีเพิ่มประมาณ 100,000 ล้านบาท ส่วนจำนวนรายผู้เสียภาษี ก็จะเข้ามาในระบบอีกจำนวนมากด้วย
สำหรับสถานการณ์รายได้ในปีนี้ เขากล่าวว่า ยังสรุปไม่ได้ เพราะตัวเลขจริงยังต้องรอผลการจัดเก็บรายได้จากภาษีนิติบุคคล เพราะเราได้ลดภาษีดังกล่าวลงมา แต่ในขณะนี้ภาษีอื่นๆ ก็เก็บได้เกินเป้าและสูงกว่าเป้าหมายประมาณ 10% และสูงกว่าปีก่อน 15% แต่เราจะไม่ประมาทในการจัดเก็บภาษีนิติบุคคล โดยให้เกาะติดในรายลูกค้าหลักๆ เพราะสิ่งที่เรากลัวก็คือ การสวมรอยโดยถือโอกาสลดนำส่ง หรือไม่เสียตามจริง ซึ่งก็ต้องดูยอดขายของผู้ประกอบการประกอบด้วย
"ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลายื่นภาษีนิติบุคคล แต่เราจะไม่ประมาท จะตรวจสอบก่อนที่จะมีการเสียภาษีจริง เพื่อให้รู้ล่วงหน้าว่าผู้ประกอบการจะต้องเสียภาษีจริง" นายสาธิต กล่าว
สำหรับกรณีสามีกับภรรยาแยกยื่นในปีนี้ ซึ่งเป็นปีแรกนั้น นายสาธิต กล่าวว่า แม้จะมีการออกกฎหมายอย่างเร่งด่วน แต่ก็ไม่พบปัญหาในทางปฏิบัติแต่อย่างใด ขณะเดียวกันผู้เสียภาษีได้มีการยื่นชำระภาษีผ่านระบบอินเทอร์เน็ตมากขึ้นด้วย โดยคาดว่าจะมีจำนวนผู้เสียภาษีผ่านระบบ
อินเทอร์เน็ตมากกว่า 7.5 ล้านรายที่ชำระภาษีผ่านระบบอินเทอร์เน็ตในปีก่อน
“ยอดยื่นชำระภาษีผ่านระบบอินเทอร์เน็ต อยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปีก่อน และอีกไม่นาน หรือประมาณกลางมีนาคม เราน่าจะเปิดตัวยื่นแบบผ่านระบบโทรศัพท์ ซึ่งเราได้ทดลองแล้วได้ผลดี จะเหมือนกับยื่นผ่านระบบอินเทอร์เน็ตไม่ต่างกัน และสะดวก ปีต่อไปจะทำให้การยื่นแบบผ่านเน็ตและมือถือใช้ภาษาง่ายกว่านี้ จะมีแอพพลิเคชั่นที่ยื่นภาษีได้เลย” นายสาธิต กล่าว
ข้อมูลจาก ไทยรัฐออนไลน์
http://www.thairath.co.th/content/eco/329524 โดยทีมข่าวเศรษฐกิจ วันที่ 28 ก.พ. 2556 เวลา 22.15 น.