วิธีแรกใช้ชุดตรวจแบบรวดเร็ว antigen test kit หรือ ATK อ่านผลได้เร็วภายใน 15 นาที มีความไว และความจำเพาะที่ต่ำ หากตรวจได้ผลบวก ต้องยืนยันด้วยการตรวจรหัสพันธุกรรม RT-PCR
SARS-CoV-2 RT-PCR เป็นวิธีมาตรฐาน เนื่องจากมีความไวและความจำเพาะสูง อย่างไรก็ดีแม้วิธีนี้จะมีความไวสูง อาจเกิดผลลบปลอมได้ และแม้จะมีความจำเพาะสูง ก็ยังอาจเกิดการปนเปื้อนที่เป็นสาเหตุของการเกิดผลบวกปลอมได้
ผมจะขอพูดถึงเรื่องผลบวกปลอมของวิธีตรวจรหัสพันธุกรรม RT-PCR ความแม่นยำของวิธีตรวจรหัสพันธุกรรมขึ้นกับความไว คือตรวจคนติดเชื้อทุกคน ต้องให้ผลบวกทุกคน และความจำเพาะ ตรวจคนไม่ติดเชื้อทุกคน ต้องให้ผลลบทุกคน ต้องยอมรับว่าไม่มีการตรวจวิธีไหนให้ผล perfect ถูกต้อง 100 % ในชีวิตจริงการตรวจผ่านเกณฑ์มาตรฐาน ถ้าความไวอย่างน้อย 95% และความจำเพาะอย่างน้อย 98% จะเห็นว่าผลการตรวจมีโอกาสที่จะให้ผลบวกปลอม 2% หรือมากกว่านั้น คือคนที่ไม่ติดเชื้อ ผลตรวจออกมาเป็นบวก
ผลเสียของการรายงานผลบวกปลอม ทำให้คนที่ไม่ได้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ถูกกักตัว อาจถูกรับเข้ารักษาในวอร์ดผู้ป่วยโควิด ได้รับยารักษาโรคโควิดโดยไม่จำเป็น สร้างความเครียด ความวิตกกังวลให้กับผู้ป่วยและคนในครอบครัว ต้องสูญเสียรายได้ เสียทรัพยากรและเพิ่มงานให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขโดยไม่จำเป็น เพิ่มสถิติของคนติดเชื้อและอื่นๆ
การป้องกันการรายงานผลบวกปลอม ต้องอาศัยทั้งห้องปฏิบัติการและแพทย์เจ้าของไข้ ถ้าคนไข้ไม่มีอาการของโรคโควิด คนในครอบครัวและที่ทำงานไม่มีใครติดเชื้อไวรัสโควิด สาเหตุที่ตรวจหารหัสพันธุกรรม ไม่ใช่เพราะสงสัยว่าติดเชื้อ แต่เพราะต้องการตรวจคัดกรอง เช่นก่อนจะเข้ารับการทำหัตถการในโรงพยาบาล และผลการตรวจ พบปริมาณเชื้อไวรัสน้อยมากโดยดูจากค่า cycle threshold ถ้าทุกอย่างเข้าข่ายนี้ แพทย์อย่าด่วนสรุปว่าติดเชื้อ ขอให้ตรวจหารหัสพันธุกรรมซ้ำใน 24 ชั่วโมง ถ้าผลออกมาลบ ขอให้ทำซ้ำอีก 1 ครั้ง ถ้าผลออกมาลบ 2 ครั้ง ยืนยันได้ว่าผลบวกครั้งแรกเป็นผลบวกปลอม
ผู้ป่วยอายุ 80 ปี เตรียมจะทำผ่าตัดตา เข้ารับการตรวจคัดกรองด้วยวิธี RT-PCR ผลออกมาเป็นบวก ค่า cycle threshold 28.8 ค่าตัดว่าลบ cut off อยู่ที่ 31.5 เนื่องจากผู้ป่วยไม่มีอาการ ไม่มีใครในบ้านป่วย ตรวจรหัสพันธุกรรมทุกคนในบ้านให้ผลลบ แพทย์สงสัยอาจเป็นผลบวกปลอม จึงทำการตรวจรหัสพันธุกรรมผู้ป่วยซ้ำอีก 2 ครั้งใน 24 ชั่วโมงต่อมา ผลออกมาเป็นลบ ยืนยันได้ว่าผลตรวจครั้งแรกเป็นบวกปลอม