น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า คณะรัฐมนตรี(ครม.)รับทราบภาพรวมวันหยุดราชการประจำปี 2565 จำนวน 19 วัน และให้ความเห็นชอบการกำหนดวันหยุดราชการเพิ่มเป็นกรณีพิเศษประจำปี 2565 จำนวน 4 วัน ได้แก่ วันศุกร์ที่ 15 กรกฎาคม 2565 ทำให้มีวันหยุดยาวติดต่อกัน 5 วัน, วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม 2565 ทำให้มีวันหยุดยาวติดต่อกัน 4 วัน, วันศุกร์ที่ 14 ตุลาคม 2565 ทำให้มีวันหยุดยาวติดต่อกัน 4 วัน และวันศุกร์ที่ 30 ธันวาคม 2565 ทำให้มีวันหยุดติดต่อกัน 4 วัน เพื่อให้มีวันหยุดยาวต่อเนื่องกันในแต่ละช่วงเชื่อมโยงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดการเดินทางและส่งผลดีต่อการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ โดยเฉพาะภาคธุรกิจและการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) รวมทั้งเป็นการสนับสนุนการประกาศเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าประเทศด้วย
✅วันศุกร์ที่ 15 ก.ค. 65 (วันหยุดยาวติดต่อกัน 5 วัน)
✅วันศุกร์ที่ 29 ก.ค. 65 (วันหยุดยาวติดต่อกัน 4 วัน)
✅วันศุกร์ที่ 14 ต.ค. 65 (วันหยุดยาวติดต่อกัน 4 วัน)
✅วันศุกร์ที่ 30 ธ.ค. 65 (วันหยุดยาวติดต่อกัน 4 วัน)
ทั้งนี้ในกรณีที่หน่วยงานใดมีภารกิจในการให้บริการประชาชนหรือมีความจำเป็นหรือมีราชการสำคัญในวันหยุดราชการดังกล่าว ที่ได้กำหนดหรือนัดหมายไว้ก่อน หากยกเลิกหรือเลื่อนไปจะเกิดความเสียหายหรือกระทบต่อการให้บริการประชาชน ให้หัวหน้าหน่วยงานนั้นพิจารณาดำเนินการตามที่เห็นสมควร โดยไม่ให้เกิดความเสียหายแก่ทางราชการและกระทบต่อการให้บริการประชาชน สำหรับในส่วนของรัฐวิสาหกิจ สถาบันการเงิน และภาคเอกชน ให้รัฐวิสาหกิจแต่ละแห่ง ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงแรงงาน พิจารณาความเหมาะสมของการกำหนดเป็นวันหยุดให้สอดคล้องกับกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้วแต่กรณีต่อไป
สำหรับวันหยุดราชการประจำปี 2565 จำนวน 19 วันมีดังนี้ วันขึ้นปีใหม่ 1มกราคม, วันหยุดชดเชยวันขึ้นปีใหม่ 3มกราคม, วันมาฆบูชา 16 กุมภาพันธ์, วันพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชและวันที่ระลึกมหาจักรีบรมราชวงศ์ 6 เมษายน, วันสงกรานต์ 13-15 เมษายน รวม 3 วัน, วันฉัตรมงคล 4 พฤษภาคม, วันพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ เดือนพฤษภาคม ซึ่งทางสำนักพระราชวังจะประกาศว่าเป็นวันไหนเป็นปีๆไป, วันวิสาขบูชา 15 พฤษภาคม, วันหยุดชดเชยวันวิสาขบูชา 16 พฤษภาคม, วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี 3 มิถุนายน, วันอาสาฬหบูชา 13 กรกฎาคม, วันเข้าพรรษา 14 กรกฎาคม, วันเฉลิมพระชนมพรรษาพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว 28กรกฎาคม, วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงและวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม
วันคล้ายวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร 13 ตุลาคม, วันปิยมหาราช 23 ตุลาคม, วันหยุดชดเชยวันปิยมหาราช 24 ตุลาคม, วันคล้ายวันพระบรมราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร วันชาติ และวันพ่อแห่งชาติ 5 ธันวาคม, วันรัฐธรรมนูญ 10ธันวาคม, วันหยุดชดเชยวันรัฐธรรมนูญ 12 ธันวาคมและวันสิ้นปี 31 ธันวาคม
สำหรับวันหยุดประจำภาค ในปี 2564 ที่ ครม. เคยกำหนดให้หยุดเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวนั้น ในปี 2565 ยังไม่ได้กำหนดเป็นวันหยุดประจำภาค ซึ่งในปี 2565 จะมีการการประเมินสถานการณ์และประกาศกำหนดล่วงหน้าเมื่อมีจังหวะที่สมควร
นอกจากนี้ครม.ยังเห็นชอบกำหนดให้วันอังคารที่ 28 ธันวาคม 2564 เป็นวันหยุดราชการประจำภาคตะวันออก ซึ่งเป็นวันพระเจ้าตากสินมหาราช