ชมรมนักวิชาการสาธารณสุข เตรียมรวบรวมผู้ปฏิบัติงานโควิดรับผลกระทบไม่ได้ “เงินเพิ่มพิเศษ” และ “ปรับขั้นเงินเดือน 1%” เบื้องต้นกว่า 200 คน เตรียมเสนอ “บิ๊กตู่-อนุทิน-สาธิต” และปลัดสธ. ขอความช่วยเหลือกลุ่มเข้าเกณฑ์ ชี้กรณีเงินเพิ่มพิเศษ 7 เดือน (มี.ค.-ก.ย.63) อัตราละ 1 พัน และ 1.5 พันบาท บางพื้นที่ไม่ได้ บางพื้นที่ได้ไม่ครบ ขณะที่การปรับขั้น 1% เกณฑ์ไม่ชัด ทำคนทำงานเหนื่อย ท้อใจหนักมาก
กลายเป็นปัญหาระอุอีกครั้งนอกจากประเด็นการบรรจุข้าราชการปฏิบัติงานโควิด19 โดยล่าสุดมีกระแสเรียกร้องขอความเป็นธรรมภายหลังบุคลากรกระทรวงสาธารณสุขที่ปฏิบัติงานโควิด แต่ไม่ได้รับเงินเพิ่มพิเศษ 7 เดือน(มี.ค.-ก.ย.2563) แบ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานโดยตรงในอัตราเดือนละ 1,000 บาท และผู้ปฏิบัติงานสนับสนุน 1,500 บาท อย่างล่าสุดที่จ.อุดรธานี และอีกหลายพื้นที่ โดยบางคนไม่ได้รับ บางคนได้รับไม่ครบ ขณะเดียวกันยังมีปัญหาไม่ได้รับการปรับขึ้นเงินเดือน 1% ตามมติครม.เมื่อวันที่ 15 เม.ย.2563 อีกด้วยนั้น
เมื่อวันที่ 20 พ.ย.2564 นายริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์กับ HFocus ว่า ขณะนี้หลายพื้นที่มีปัญหามาก ทั้งเรื่องเงินเพิ่มพิเศษ 7 เดือน และการปรับขั้นเงินเดือน 1% เบื้องต้นส่งเรื่องเรียกร้องมากว่า 200 คน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ทางชมรมฯ กำลังรวบรวมข้อมูลอย่างกรณีเงินค่าเสี่ยงภัย โดยจะขอรวบรวมเฉพาะข้าราชการ ลูกจ้างประจำที่ตกหล่นก่อน เนื่องจากตามเกณฑ์หนังสือของกระทรวงสาธารณสุขได้ระบุให้ข้าราชการ และลูกจ้างประจำเบิกจ่ายจากเงินงบประมาณที่จัดสรรมา จึงขอรวบรวมข้อมูลตรงนี้ และจะเสนอต่อศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพราะเรื่องนี้ออกมาจากมติครม. และส่งต่อท่านอนุทิน ชาญวีรากูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ท่านสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการสธ. และนพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. เพื่อขอให้ช่วยเหลือกลุ่มที่เข้าเกณฑ์แต่ตกหล่นว่า จะมีการเยียวยาช่วยเหลืออย่างไรต่อไป
นายริซกี กล่าวอีกว่า ปัญหาคือ กรณีการเบิกจ่ายเงินเพิ่มพิเศษ 7 เดือนจากเงินงบประมาณนั้น ไม่แน่ใจว่า เป็นเพราะเงินไม่เพียงพอหรือไม่ เพราะได้ไม่ทั่วถึง ฝนตกไม่ทั่วฟ้า ซึ่งตามหลักเกณฑ์กำหนดว่าการให้เงินเพิ่มพิเศษแก่ผู้ปฏิบัติงานโควิด (มี.ค.-ก.ย.2563) แบ่งเป็นผู้ปฏิบัติงานโดยตรงในอัตราเดือนละ 1,500 บาท และผู้ปฏิบัติงานสนับสนุน 1,000 บาท แต่เนื้อหาคำสั่งระบุไม่ชัดเจน ทำให้พื้นที่ตีความกันเอง อย่างที่ผ่านมาคำสั่งให้ปฏิบัติงานโควิด มีบางพื้นที่ระบุชื่อเพียงหัวหน้างาน แต่ไม่ได้ใส่ลูกน้องเข้าไปด้วย ถ้าได้ก็จะได้แค่หัวหน้า ส่วนบางพื้นที่ก็กำหนดว่า ใครลงพื้นที่ไปเจอผู้ป่วยโควิดถึงจะได้ แต่ความเป็นจริงมีคนไปคัดกรอง ไปสว็อปเชื้อ หรือไปตรวจหาเชื้อ ดูแลสเตจคลอรันทีน ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 180 -200 คน เฉพาะข้าราชการ กับลูกจ้างประจำ
"ล่าสุดนพ.บัญญัติ เจตนจันทร์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดระยอง พรรคประชาธิปัตย์ ได้ติดตามเรื่องนี้และส่งให้ท่านสาธิต รับทราบแล้ว"
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีพนักงานราชการ พนักงานกระทรวง ลูกจ้างชั่วคราว ให้เบิกจ่ายเงินเพิ่มพิเศษกรณีโควิดอย่างไร นายริซกี กล่าวว่า พนักงานราชการ พนักงานกระทรวง ลูกจ้างชั่วคราว ให้เบิกจ่ายจากเงินบำรุง ซึ่งล่าสุดมีหนังสือจากกระทรวงการคลังออกมาแล้ว ซึ่งตรงนี้จะมีปัญหาว่า ถ้าโรงพยาบาลใด หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.) ไหนเงินน้อย ก็จะมีปัญหา เรื่องนี้จึงเป็นอีกเรื่องที่ต้องหารือกับผู้บริหารสธ. อย่างไรก็ตาม ประเด็นเงินเพิ่มพิเศษ ตนตั้งข้อสังเกตว่า พื้นที่ที่ให้ไม่ครบเพราะอะไร มาจากเงินไม่เพียงพอกับจำนวนคนหรือไม่ อย่างกรณีร้อยเอ็ดจ่ายบุคลากรบางคน 6 เดือน เดือนละ 1 พัน และเดือนที่ 7 ให้จำนวน 600 กว่าบาท หรือบางพื้นที่ให้ทุกคน แต่เฉลี่ยเงิน จึงไม่ได้ตามจำนวน 1,000 หรือ 1,500 บาท
“อีกปัญหาที่สำคัญ คือ กรณีมติ ครม. เมื่อวันที่ 15 เม.ย.2563 ให้มีการปรับขั้นเงินเดือน 1% ปัญหา คือ ในหลกเกณฑ์ระบุแค่ว่า ปรับขั้นเงินเดือน 1% ผู้ปฏิบัติงานโควิด ซึ่งคำนิยามกว้างมาก จนพื้นที่ไปตีความเอง อย่างบางพื้นที่ก็คัดเลือกเฉพาะคนมีผลงานดีเด่น หรือดีมาก หรือหลักเกณฑ์อื่นๆ ตรงนี้จะมีการรวบรวมข้อมูลเช่นกัน แต่โดยภาพรวมกำลังแยกว่า ใครไม่ได้สิทธิทั้งสองกรณี ทั้งเงินเพิ่มพิเศษ และขั้นเงินเดือน 1% หรือได้กรณีใดกรณีหนึ่ง หรือได้ไม่ครบ รวมๆทั้งหมดเบื้องต้นกว่า 200 คน แต่คิดว่ามากกว่านี้” นายริซกี กล่าว
บุคลากรสาธารณสุขที่ได้รับผลกระทบรายหนึ่งในพื้นที่จ.นครสวรรค์ ให้ข้อมูลว่า ตนไม่ได้รับการปรับขั้นเงินเดือน 1% โดยในตัวอำเภอเมืองได้ทั้งหมด 34 คน แต่มีคนทำงานเป็นข้าราชการประมาณ 100 คน ซึ่งตอนทำงานก็ไม่มีใครรู้ว่า มีเกณฑ์อะไรอย่างไร ก็เข้าใจว่า เงินอาจไม่เพียงพอหรือไม่ แต่ตอนประกาศออกมาเหมือนได้ทุกคน แต่ปรากฏกลับไม่ได้ ก็รู้สึกเหนื่อยเหมือนกัน เพราะอย่างพื้นที่ก็มีคนที่มีชื่อในคำสั่งให้ปฏิบัติงาน แต่ให้คนอื่นไปอยู่เวรแทนก็มี
ข้อมูลจาก hfocus.org