คอลัมน์ ส่องโรคไขสุขภาพ
น.อ.นพ.อนุตตร จิตตินันทน์ นายกสมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันแนวโน้มผู้ป่วยโรคไตมีอัตราเพิ่มขึ้นทุกปีเฉลี่ยประมาณปีละ 10,000 ราย จากข้อมูลล่าสุดพบคนไทยป่วยเป็นโรคไตร้อยละ 17.5 ของประชากร หรือประมาณ 8 ล้านคน ซึ่งมีตั้งแต่ระยะต้นไปถึงระยะท้าย แต่ปัญหาคือ ผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มระยะท้ายนั้นมีประมาณ 40,000 คน จะต้องล้างไต ฟอกเลือด ซึ่งประเมินว่าจะมีค่าใช้จ่าย 200,000 บาทต่อคนต่อปี
สำหรับสาเหตุสำคัญของการเกิดโรคไต อันดับต้นๆ ยังคงเป็นโรคเบาหวาน และความดันโลหิตสูง แต่ยังมีสาเหตุจากโรคอื่นๆ ได้อีก เช่น นิ่ว หรือกินยาบางชนิดต่อเนื่องเป็นเวลานาน ทั้งนี้ จะพบประชากรที่ป่วยด้วยโรคนิ่วและทำให้เกิดโรคไตชุกในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม้จะยังเป็นรองจากความดันและเบาหวาน แต่ก็ถือเป็นปัจจัยที่ต้องระวังในประชากรกลุ่มนี้
มีการศึกษาพบว่าความชุกในการเกิดโรคนิ่ว ที่เป็นความเสี่ยงหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคไตเรื้อรังในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น ส่วนหนึ่งเกิดจากสภาพแวดล้อมที่มีความผิดปกติ อากาศร้อนจัด เมื่อดื่มน้ำไม่เพียงพอก็จะทำให้เกิดปัสสาวะข้น และเป็นสาเหตุการเกิดโรคนิ่วขึ้นได้ และยังพบว่ามีส่วนมาจากพันธุกรรมของประชากรในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือร่วมด้วย
แต่สิ่งที่ต้องระวังมากที่สุด ยังเป็นเรื่องของความดันโลหิตและเบาหวาน จึงต้องควบคุมน้ำหนักและลดเค็ม เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคไตด้วย
หน้า 10 มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 12 มีนาคม 2556
ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1363070236&grpid=&catid=09&subcatid=0902 วันที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2556 เวลา 20:35:49 น.