เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยภายหลังการหารือร่วมกับ นางสาวสุนทราลักษณ์ เพ็ชรกูล ที่ปรึกษาด้านนโยบายและแผนงาน จากสภาพัฒน์ และผู้แทนกลุ่มคนกลางคืน นำโดย คุณธเนส สุขวัฒน์ ตัวแทนนักดนตรี ผู้จัดงานคอนเสิร์ต คุณวรพจน์ นิ่มวิจิตร ตัวแทนผู้จัดงานคอนเสิร์ต อีเว้นท์ จากสมาพันธ์เครือข่ายคนบันเทิงอาชีพแห่งประเทศไทย ถึงแนวทางการเยียวยานักร้อง นักดนตรี นักแสดง และผู้ประกอบการสถานบันเทิง คลับ ผับ บาร์ ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยมี นางธิวัลรัตน์ อังกินันทน์ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน พร้อมด้วย ผู้บริหารระดับสูงกระทรวงแรงงาน เข้าร่วมในครั้งนี้ด้วย
นายสุชาติ กล่าวต่อว่า สำหรับแนวทางการช่วยเหลือ จะแบ่งเป็น 3 กลุ่ม กลุ่มที่ 1 นายจ้าง ให้ลงทะเบียนโครงการ SME (โครงการส่งเสริมและรักษาระดับการจ้างงาน) ต่ออีก 1 เดือน เพื่อช่วยเหลือนายจ้างกลุ่มนี้ 3 เดือน โดยไม่มีภาษี กลุ่มที่ 2 ลูกจ้างที่อยู่ในระบบประกันสังคม จะให้ประกันสังคมเยียวยาว่างงานจากเหตุสุดวิสัยจ่าย 50 เปอร์เซ็นต์ และจ่ายอีก 5,000 บาท จากรัฐบาล (ม.33 เรารักกัน) กลุ่มที่ 3 ลูกจ้างที่ไม่อยู่ในระบบประกันสังคม จะได้รับเงินเยียวยาจากรัฐบาล โดยใช้เงินกู้จากรัฐบาล แต่ต้องให้สมาคม/สมาพันธ์รับรอง ทั้งนี้ ได้ตรวจสอบตัวเลขในระบบพบว่า ทั้งประเทศคาดว่าอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 1.5 แสนราย ซึ่งจะต้องใช้เม็ดเงินกู้จากรัฐบาลเยียวยาประมาณ 750 ล้านบาท ส่วนผู้ที่เกินอายุเกิน 65 ปี ซึ่งไม่เข้าข่ายมาตรา 40 ของประกันสังคม จะประสานให้กระทรวงวัฒนธรรมสำรวจตัวเลขและเป็นผู้ดูแลเยียวยาต่อไป
“ท่านนายกรัฐมนตรี ได้มีความห่วงใยและให้ความสำคัญกับการดูแลช่วยเหลือกลุ่มคนทำงานทุกสาขาอาชีพที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 โดยเฉพาะกลุ่มนักร้อง นักดนตรี และอาชีพที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระทรวงแรงงาน จะเร่งดูแลเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งผู้ประกอบการ ลูกจ้างกลุ่มเหล่านี้ให้ได้รับการช่วยเหลือทุกคน ทุกกลุ่มอย่างเร่งด่วน ตามนโยบายรัฐบาล โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” นายสุชาติ กล่าวในท้ายสุด