กรมควบคุมโรค เผยผู้ฉีดวัคซีนสูตรไขว้ "ซิโนแวค+แอสตร้า" หรือแอสตร้าฯ 2 เข็ม เตรียมบูสเตอร์ โดส เข็ม 3 หากฉีดครบตั้งแต่ ส.ค. เริ่มบูสต์ ธ.ค.64 หากฉีดครบ ก.ย. ให้เริ่มบูสต์ ม.ค.65 รอประกาศทางการอีกครั้ง พร้อมเผยรายละเอียดสูตรบูสเตอร์โดส แบบไหนควรฉีด
เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2564 นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สำหรับสถานการณ์โควิดในปี 65 เชื่อว่าคนไทยจะได้ฉีดวัคซีนบูสเตอร์โดส ซึ่งจะประชุมในวันที่ 13 ธ.คนี้ เป็นการฉีดด้วยความสมัครใจ ส่วนแนวโน้มการระบาดของทั่วโลกตอนนี้ดูเหมือนสถานการณ์จะผ่อนคลายมากขึ้น เพราะมีการฉีดวัคซีนค่อนข้างมาก แต่มาตรการป้องกันส่วนบุคคลต้องทำต่อไป มองในแง่ดีสถานการณ์ค่อยๆ ดีขึ้น แล้วเราจะกลับไปใช้ชีวิตได้ใกล้เคียงปกติมากที่สุด ยกเว้นมีการกลายพันธุ์แบบหน้ามือเป็นหลังมือรุนแรง ซึ่งเชื่อว่าไม่น่าจะเกิดขนาดนั้น แต่เราต้องติดตามข้อมูลกันเป็นระยะ เพราะข้อมูลโควิดเปลี่ยนแปลงเร็ว
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรณีผู้ที่ฉีดวัคซีนสูตรไขว้ คือ ซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ต้องกระตุ้นเข็ม 3 หรือบูสเตอร์โดส อย่างไร นพ.โอภาส กล่าวว่า ปกติจะฉีดวีคซีนชนิดเชื้อตาย ไวรัลแว็กเตอร์และ mRNA ไล่ตามนี้ เพราะฉะนั้นคนที่ฉีดซิโนแวค ซิโนฟาร์ม ครบ 2 เข็ม ก็จะฉีดวัคซีนเข็ม3 ด้วยแอสตร้าฯ เข็ม 4 ก็จะเป็นแอสตร้าฯ ส่วนเข็ม 5 ถ้าจะมีก็จะเป็นไฟเซอร์
ส่วนคนที่ฉีดสูตรไขว้ซิโนแวคตามด้วยแอสตร้าฯ ฉีดเข็ม 3 ก็จะเป็นแอสตร้าฯ ส่วนเข็ม 4 ก็จะเป็นไฟเซอร์ เพราะการฉีดบูสต์ไม่ได้ฉีดแค่เข็มเดียว เนื่องจากไม่ต้องการให้ได้วัคซีนชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินไปเพราะผลไม่พึงประสงค์ระยะยาวเป็นอย่างไรก็ยังไม่รู้ จึงมีความระมัดระวังในการให้คำแนะนำในการให้วัคซีนให้เกิดความปลอดภัย
"ผู้ที่ฉีดสูตรไขว้ครบถึงเดือนส.ค.ให้มาฉีดเข็ม 3 ได้แล้วในเดือน ธ.ค. ส่วนผู้ที่ฉีดครบ 2 เข็มในช่วงเดือน ก.ย.ก็อาจจะเป็นช่วงเดือน ม.ค. รอประกาศชัดเจนอีกครั้ง" นพ.โอภาส กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า สำหรับคนที่ฉีดแอสตร้าฯกับแอสตร้าฯ หากเป็นชนิดเดียวกันได้หรือไม่ นพ.โอภาส กล่าวว่า คณะกรรมการวิชาการฯ ไม่แนะนำ หากฉีดวัคซีนแอสตร้าฯ ครบ 2 เข็ม ควรบูสเตอร์ด้วยไฟเซอร์ ซึ่งระยะเวลาจะเหมือนกัน หากฉีดครบ ส.ค.นี้ สามารถบูสเตอร์ได้ช่วงเดือนธ.ค. แต่จะมีการประกาศให้ทราบอย่างชัดเจนต่อไป
นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ระบบภูมิต้านทานโรคซับซ้อน ไม่สามารถวัดได้ด้วยแล็บใดแล็บหนึ่ง ซึ่งประสิทธิภาพวัคซีนมี 2 ส่วน คือ ลดการติดเชื้อ และลดการป่วยหนักและเสียชีวิต ส่วนใหญ่ที่พูดแค่ประเด็นเดียวและไม่ครบ โดยหากเทียบกับคนที่ไม่ฉีดวัคซีน คนที่ฉีดโอกาสติดเชื้อก็น้อยกว่า วัคซีนยังมีประสิทธิภาพลดการติดเชื้อแม้ว่าจะไม่ 100 % ลดได้สัก 50 % ก็ถือว่าดีมากแล้วถ้าเทียบกับไม่ฉีด ส่วนการป้องกันป่วยหนักและเสียชีวิตยังถือว่าดีมาก และตัวเซลล์ภูมิคุ้มกันร่างกายจะมีการจดจำ เมื่อมีการฉีดวัคซีนจะจดจำเชื้อนั้นไว้ เมื่อมีเชื้อใหม่เข้ามาก็จะสร้างภูมิ แต่ตรงนี้ใช้เวลาพอสมควร เพราะฉะนั้นโรคที่ระยะฟักตัวสั้น สร้างไม่ทันก็ติดเชื้อได้ แต่เมื่อติดเชื้อแล้ว ภูมิฯที่สร้างขึ้นมาก็จะทำให้ไม่ป่วยหนักและเสียชีวิต
ผู้สื่อข่าวสรุปการฉีดวัคซีนเข็ม 3 กระตุ้นภูมิคุ้มกัน ดังนี้
-กลุ่มฉีดวัคซีนชนิดเชื้อตาย 2 เข็ม (ซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม) ควรฉีดกระตุ้นด้วยไวรัลแว็กเตอร์ และ mRNA
-กลุ่มฉีดวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า ตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ควรฉีดกระตุ้นด้วยชนิด mRNA
-กลุ่มฉีดวัคซีนสูตรไขว้ (ซิโนแวค+แอสตร้าฯ) ควรฉีดกระตุ้นด้วยแอสตร้าฯ หรือ ไฟเซอร์
โดยใครฉีดครบ 2 เข็มตั้งแต่เดือน ส.ค.2564 สามารถฉีดกระตุ้นเข็ม 3 ได้ในเดือนธ.ค.2564 และหากใครฉีดครบ 2 เข็มเดือน ก.ย.2564 สามารถฉีดกระตุ้นในเดือน ม.ค.2565 ซึ่งจะมีการประกาศและแจ้งให้ทราบต่อไป
ข้อมูลจาก hfocus.org