กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เผยผลทดสอบภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนโควิดในไทย พบวัคซีน 2 เข็มป้องกัน “โอมิครอน” ลดลงกว่า “เดลตา” แต่หากกระตุ้นเข็ม 3 กลับกระตุ้นภูมิฯสูงขึ้น ไม่ว่าจะกระตุ้นด้วยไฟเซอร์หรือแอสตร้าฯ ภูมิสูงขึ้นหมด แต่ PZ ภูมิฯขึ้นมากกว่า ส่วน 2 รายเสียชีวิตมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย ย้ำ! ยังต้องฉีดวัคซีนโควิด โดยเฉพาะเข็ม 3
เมื่อเวลา 11.00 น. วันที่ 17 ม.ค. 2565 ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแทพย์ แถลงการทดสอบภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนโควิด ว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ทำการทดสอบประสิทธิภาพของภูมิคุ้มกันจากวัคซีนในการป้องกันเชื้อโควิด 19 สายพันธุ์โอมิครอน โดยเก็บตัวอย่างเลือดหรือซีรั่มของผู้ที่ได้รับวัคซีนแต่ละสูตร ซึ่งผลการศึกษาของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะแตกต่างจากศิริราช จึงขออย่านำมาเปรียบเทียบกัน
โดยทำการศึกษา 8 สูตรที่ใช้ฉีดในไทย คือ 1. ซิโนแวค + แอสตร้าเซนเนก้า 2. แอสตร้าฯ + แอสตร้าฯ 3. ไฟเซอร์ 2 เข็ม 4. ซิโนแวค + ไฟเซอร์ 5.แอสตร้าฯ + ไฟเซอร์ ไม่ได้ทดสอบสูตรซิโนแวค 2 เข็ม เพราะเราเปลี่ยนสูตรมาเป็นสูตรไขว้แล้ว 6. การฉีดเข็มกระตุ้น ซิโนแวค 2 เข็ม + แอสตร้าฯ 7. ฉีดซิโนแวค 2 เข็ม + ไฟเซอร์ และ8. ฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม +ไฟเซอร์ โดยมีการเก็บตัวอย่างเลือดหลังรับวัคซีนแล้ว 2 สัปดาห์ ถือเป็นระดับที่มีภูมิคุ้มกันมากพอที่จะต่อสู้เชื้อโรคต่างๆ ได้ จากนั้นนำมาทดสอบด้วยวิธีที่เรียกว่า PRNT หรือ Plaque Reduction Neutralization Test โดยใช้ตัวอย่างเลือดจริงของผู้ป่วยจากนั้นมาทำการเจือจางให้ได้ระดับที่ปลอดภัย หรือที่เรียกว่า ค่า Plaque ที่ลดลง 50% ซึ่งถือเป็นระดับสุดท้ายที่จะป้องกันการติดเชื้อได้ โดยสำหรับกรมวิทย์การตรวจหาใช้
นพ.ศุภกิจ กล่าวต่อว่า ผลการศึกษาพบว่าภูมิคุ้มกันในเลือดเราที่เคยต่อสู้กับเดลต้าได้ค่อนข้างดี แต่เมื่อเจอกับโอมิครอนแล้วลดลงทุกสูตร สอดคล้องกับข้อสันนิษฐานว่าการกลายพันธุ์ของโอมิครอนน่าจะหลบวัคซีนได้ หลายๆ ประเทศทดสอบก็ได้ผลใกล้เคียงกัน สำหรับผลจากคนที่ฉีดวัคซีน 2 เข็ม กับกลุมที่ฉีด 3 เข็ม เพื่อดูค่าไตเติลนั้น ซึ่งในส่วนของเชื้อโควิดนั้นยังไม่ทราบว่าค่าไตเติลจะต้องมี 1 ต่อเท่าไหร่ แต่ตามหลักเชื้อโรคทั่วไปจะต้องอยู่ที่ 1 ต่อ 10 ก็จะป้องกันโรคได้ ดังนั้นเมื่อผลออกมาพบว่าคนที่ฉีดวัคซีน 2 เข็มไม่ว่าจะเป็นสูตรใดก็ตามพบค่าไตเติลขึ้นมาปริ่มๆ ไม่ได้สูงมากนัก ป้องกันโอมิครอนได้ไม่มาก โดยไฟเซอร์ 2 เข็ม ขึ้นมา 19.17 แอสตร้าฯ 2 เข็ม ขึ้นมา 23.81 ส่วนสูตรซิโนแวค + แอสตร้าฯ ขึ้นมา 12 ขณะที่สูตรซิโนแวค + ไฟเซอร์ขึ้นมา 21 และสูตร แอสตร้าฯ+ไฟเซอร์ ขึ้นมา 21 ส่วนกรณีผู้ที่ฉีดวัคซีน 3 เข็ม ไม่ว่าจะเป็นซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วยแอสตร้าฯ สูตรซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วยไฟเซอร์ หรือสูตรแอสตร้าฯ 2 เข็ม ตามด้วยไฟเซอร์ ภูมิฯ ขึ้นมาค่อนข้างดี ตั้งแต่ 71-200 เศษๆ
“อันนี้คือตัวเลขภูมิคุ้มกันในร่างกายของมนุษย์ แต่กลไกการต่อสู้กับเชื้อโรคนั้นไม่ได้มีแค่ภูมิในน้ำเลือดเท่านั้น แต่ยังมีเซลล์เม็ดเลือดขาวที่จดจำไวรัสได้ก็จะออกมาช่วยกันจัดการ ทั้งนี้ เมื่อเทียบการจัดการเชื้อเดลตา กับโอมิครอนนั้นลดลงไป อย่างเช่น สูตรซิโนแวค+แอสตร้าฯ เดิมเคยจัดการกับเดลต้าได้ 201 พอเป็นโอมิครอนเหลือเพียง 12 เท่ากับว่าหายไป 17 เท่า ลดลงค่อนข้างเยอะ ดังนั้นจึงต้องมีการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อให้ภูมิคุ้มกันมากพอที่จะลดการแพร่เชื้อและลดการเจ็บป่วยรุนแรงหรือเสียชีวิตมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสูตรไหนก็ตาม ส่วนสูตรไหนจะอยู่ไหนก็ต้องติดตามต่อไป ส่วนกรณีโอมิครอนกำลังรวบรวมข้อมูลปัจจุบันอยู่” นพ.ศุภกิจ กล่าว และว่า ตอนนี้กำลังจะเก็บตัวอย่างคนฉีดสูตรไขว้ ทั้งซิโนแวค+แอสตร้าฯ+แอสตร้าฯ หรือไฟเซอร์ นอกจากนี้ ยังพบว่าโอมิครอนมีการเพิ่มจำนวนช้าด้วยเช่นกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า กรณีโอมิครอนเพิ่มจำนวนช้า จะมีผลต่อระยะเวลาการติดเชื้อหรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ปกติไวรัสที่มีปัญหามากๆ ก็น่าจะเพิ่มจำนวนได้เร็ว เพื่อทำอันตรายของร่างกาย แต่จากข้อสังเกตตรงนี้ทางกรมวิทย์จะหารือกับแล็ปอื่นๆว่า เจอแบบนี้หรือไม่ แต่ยังสรุปไม่ได้ว่าการเพิ่มจำนวนช้าจะทำให้ติดเชื้อยาวกว่า หรือสั้นกว่าแต่อย่างไร
“การศึกษาชัดเจนว่า โอมิครอน มีผลต่อวัคซีนทุกสูตรทุกชนิด เพราะหลบวัคซีนได้มากกว่าเดลตา แต่ตัวเลขสะสมติดโอมิครอนเกือบหมื่นรายแล้ว แต่ผู้เสียชีวิต 2 ราย ซึ่งขณะนี้เรากำลังสุ่มเป็นสัดส่วนมากขึ้น โดยข้อมูลจากการสุ่มสำรวจสถานการณ์จริงของโอมิครอนในไทย เมื่อเทียบกับเดลตา มีลักษณะอย่างไร คาดว่า 1-2 วันจากนี้จะทราบผลชัดเจน” นพ.ศุภกิจ กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีผู้เสียชีวิต 2 รายมาจากไม่ได้รับวัคซีนกระตุ้นเข็ม 3 หรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า จริงๆวัคซีนถึงได้รับ 2 เข็มก็ช่วยลดความรุนแรงได้ แต่การเกิดปัญหาใครป่วยหนักจนเสียชีวิตมีปัจจัยอื่นร่วมด้วย ซึ่ง 2 รายนี้เป็นผู้ป่วยติดเตียง ระบบภูมิต้านทานของร่างกายไม่ค่อยปกติ อย่างไรก็ตาม ในการประชุมอีโอซี ได้มีการมอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ไปสำรวจว่า ใครที่ติดโอมิครอน ซึ่งปัจจุบันมีเกือบ 1 หมื่นราย โดยเราจะใช้เลขบัตรประชาชนของแต่ละท่าน ส่งให้กรมการแพทญ์ เพื่อติดตามว่า มีกี่ราย อาการน้อย หายดี หรืออาการหนัก เพื่อให้ได้ข้อมูลสถานการณ์ความรุนแรงของโอมิครอน
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า ปัจจุบันยังมีคนเรียกร้องไม่ฉีดวัคซีน แต่หลักฐานเชิงประจักษ์ชัดเจนว่า วัคซีนช่วยลดความรุนแรงได้จริง สถานการณ์โลกก็เช่นกัน โดยแน่ๆ ช่วยลดความป่วยหนัก เสียชีวิตได้ และเมื่อเป็นเข็ม 3 ก็ลดการติดเชื้อ ลดการแพร่เชื้อได้ด้วย จึงต้องถามสังคมว่า เราอยู่ด้วยกันในสังคม หากจะปล่อยให้คนฉีดหรือไม่ฉีดตามใจชอบก็จะเป็นปัญหากับคนอื่นได้ แต่หากท่านอยู่คนเดียวก็ไม่เป็นไร จะฉีดหรือไม่สุดแล้วแต่ แต่หากต้องทำกิจกรรมร่วมกับคนอื่น ในหลักการควบคุมโรค การใช้กติกาว่า จะร่วมกิจกรรมมีโอกาสแพร่เชื้อเยอะๆ หากติดกันมาก รอรักษาอย่างเดียวคงไม่ได้ เพราะโอกาสการกลายพันธุ์ยิ่งติดมากเท่าไหร่ ก็จะกลายพันธุ์ง่ายขึ้น เราไม่ประสงค์เห็นพันธุ์อื่นๆอีก
“ขอฝากให้มาฉีดวัคซีนกัน เพราะลดความรุนแรงได้จริง อย่างผู้ป่วยเสียชีวิตเริ่มลดลง ซึ่งมาจากการฉีดวัคซีนมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง” นพ.ศุภกิจ กล่าว
เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ว่าจะเป็นโรคที่ไม่รุนแรง และเป็นโรคประจำถิ่น อธิบดีกรมวิทย์ กล่าวว่า จากข้อมูลเท่าที่ดูก็น่าจะเป็นสายพันธุ์ไม่รุนแรง แต่ก็ต้องติดตามอีกสักระยะ สิ่งหนึ่งที่พบตรงกันในทีมวิชาการ คือ วัคซีนที่หวังจะฉีดปีละครั้งกรณีโควิด 19 ป้องกันไม่ได้นานขนาดนั้น ป้องกัน 1 ปีได้หรือไม่ก็ยังไม่ใช่ ยกเว้นว่าจะเป็นโรคประจำถิ่นก็อาจจะไม่ต้องฉีดวัคซีนกระตุ้นบ่อยๆ อาจปีละครั้ง แต่นั่นต้องเป็นโรคประจำถิ่นที่ไม่ได้ป่วยมากขนาดนี้ ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกยังป่วยมากอยู่
เมื่อถามกรณีกรมวิทย์จะมีการศึกษาผลจากการฉีดวัคซีนครึ่งโดสได้หรือไม่ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ใช่ กรมวิทย์จะมีการติดตามเรื่องนี้ แต่ปัจจุบันข้อแนะนำทางการไม่ได้มีว่า ให้ฉีดครึ่งโดส หรือแม้แต่การฉีดชั้นผิวหนัง ยกเว้นบางพื้นที่บางสถาบันจะเป็นเรื่องของการศึกษาวิจัย
ข้อมูลจาก hfocus.org/