วันที่ 18 ม.ค. 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 17 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศกระทรวงมหาดไทย รวม 4 ฉบับ ซึ่งกำหนดให้มีการลดค่าการจดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์จาก 2% และค่าจดทะเบียนจำนองจาก 1% เหลือ 0.01% ซึ่งจะช่วยกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจปี 2565 รักษาระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ตลอดจนสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ช่วยเหลือให้ลูกหนี้มีสภาพคล่องและผู้ประกอบการกลับมาประกอบธุรกิจได้เร็วขึ้น
สำหรับการปรับลดค่าจดทะเบียนโอนและจดทะเบียนจำนองอสังหาริมทรัพย์นี้ เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งผ่านการอนุมัติของที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 ธ.ค. 2564 ที่ผ่านมา โดยแบ่งการดำเนินการเป็น 2 กรณี
กรณีแรก เพื่อลดภาระให้กับประชาชนที่มีการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งกระทรวงมหาดไทยออกประกาศ 2 ฉบับ มีผลเป็นการลดค่าจดทะเบียนการโอนและค่าจดทะเบียนจำนองอสังหาริมทรัพย์ตามประมวลกฎหมายที่ดินกรณีอาคารที่อยู่อาศัย (บ้านเดี่ยว บ้านแฝดและบ้านแถว) หรืออาคารพาณิชย์ หรือที่ดินพร้อมอาคารดังกล่าว และห้องชุดในอาคารชุดซึ่งจดทะเบียนนิติบุคคลอาคารชุดตามกฎหมายว่าด้วยอาคารชุด โดยราคาซื้อขายและประเมินทุนทรัพย์ไม่เกิน 3 ล้านบาท วงเงินจำนองไม่เกิน 3 ล้านบาท และมีการโอนและจดจำนองในคราวเดียวกันโดยในส่วนนี้จะมีผลตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค. – 31 ธ.ค. 2565
“มาตรการในส่วนนี้จะช่วยบรรเทาภาระให้ผู้ที่ต้องการมีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองในระดับราคาที่ไม่สูงมาก รวมถึงช่วยรักษาระดับกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภาคอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับภาคอสังหาฯ ในสถานการณ์โควิด-19 โดยกระทรวงการคลังได้ประเมินว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นให้เกิดการซื้อขายอสังหาฯ มูลค่าประมาณ 2.91 แสนล้านบาท ซึ่งจะช่วยเพิ่มการบริโภคในประเทศได้ 7.4 หมื่นล้านบาท เพิ่มการลงทุนประมาณ 1.35 แสนล้านบาท และส่งผลให้จีดีพีเพิ่มขึ้น 0.58%” น.ส.ไตรศุลี กล่าว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กรณีที่ 2 เป็นมาตรการลดค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ซึ่งส่วนนี้กระทรวงมหาดไทยได้ออกประกาศ 2 ฉบับ มีผลเป็นการลดค่าจดทะเบียนโอนและจดจำนองในอัตราเดียวกันกับกรณีแรกคือเหลือ 0.01% สำหรับกรณีที่มีการโอนและจำนองอสังหาริมทรัพย์เพื่อการปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างลูกหนี้ซึ่งรวมถึงผู้ค้ำประกันกับสถาบันการเงิน หรือกับบริษัทที่มิใช่สถาบันการเงิน เช่น บริษัทบัตรเครดิต บริษัทสินเชื่อส่วนบุคคล บริษัทสินเชื่อเพื่อการประกอบอาชีพ บริษัทสินเชื่อรายย่อยระดับจังหวัด ธุรกิจให้เช่าซื้อ ให้เช่าแบบลีสซิ่ง เป็นต้น
สำหรับกรณีลดค่าธรรมเนียมเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างหนี้ มีผลบังคับตั้งแต่วันที่ 18 ม.ค. 2565 -31 ธ.ค. 2569 เป็นเวลา 5 ปี ซึ่งกระทรวงการคลังได้ประเมินว่าการดำเนินการมาตรการดังกล่าวจะช่วยเหลือให้ลูกหนี้ได้รับความช่วยเหลือจนมีสภาพคล่องเพิ่มขึ้น และสามารถฟื้นฟูฐานะและกิจการ สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้ ส่วนเจ้าหนี้และระบบสถาบันการเงินในภาพรวมมีต้นทุนลดลงและสามารถให้สินเชื่อแก่ประชาชนและธุรกิจต่าง ๆ ได้เพิ่มขึ้น