รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เผย โรคโควิด 19 แนวโน้มความรุนแรงลดลง ได้วางแนวทางให้เข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่น พร้อมสื่อสารทำความเข้าใจกับประชาชนใช้ชีวิตกับโควิด 19 อย่างปลอดภัย ส่วนวัคซีนเชื้อตายสำหรับเด็ก อย.จะพิจารณาคำขอขยายการฉีดซิโนแวคในเด็ก 3-17 ปี วันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ ขณะที่ระบบ Test &Go ได้ปรับมาตรการเข้มข้นขึ้น ย้ำผู้ประกอบการเข้มงวดการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด
วันนี้ (2 กุมภาพันธ์ 2565) ที่สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข และคณะผู้บริหาร ร่วมประชุมผู้บริหารระดับสูง กระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 2/2565 และให้สัมภาษณ์หลังการประชุมว่า ได้กำชับให้ทุกหน่วยงานติดตามกำกับ การดำเนินงานตามนโยบายอย่างต่อเนื่อง โดยในส่วนการแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 ปัจจุบันเป็นสายพันธุ์โอมิครอน ซึ่งแม้จำนวนผู้ติดเชื้อมากขึ้น แต่การเจ็บป่วยรุนแรงและการเสียชีวิตไม่เพิ่มขึ้นตาม กระทรวงสาธารณสุขจึงวางเป้าหมายและแนวทางที่จะปรับโรคโควิด 19 จากการระบาดใหญ่ (Pandemic) ไปสู่การเป็นโรคประจำถิ่น (Endemic) ซึ่งมีเจตนารมณ์เพื่อให้ประชาชนอยู่ร่วมกับโรคโควิด 19 ได้อย่างปลอดภัย มีความมั่นใจในความพร้อมของกระทรวงสาธารณสุข ทั้งยา เวชภัณฑ์ และสถานพยาบาลในการดูแลรักษาเหมือนกับการดูแลรักษาโรคติดเชื้ออื่นๆ ขณะเดียวกันให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้น รวมทั้งให้ สปสช.และองค์การเภสัชกรรม จัดหาและกระจายชุดตรวจ ATK ให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในราคาที่เหมาะสม
นายอนุทินกล่าวต่อว่า สำหรับการฉีดวัคซีนในกลุ่มเด็ก 5-11 ปี เริ่มจากเด็กที่มีโรคประจำตัวเสี่ยงเกิดอาการรุนแรงหากติดเชื้อ ได้กำชับให้สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทำความเข้าใจถึงความจำเป็นในการให้วัคซีนเด็กกลุ่มนี้ก่อน พร้อมประสานสถานศึกษาในพื้นที่เพื่อให้บริการฉีดวัคซีนแก่เด็กนักเรียนตามเป้าหมาย ส่วนวัคซีนเชื้อตายที่จะใช้ในเด็กนั้น สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จะมีการประชุมพิจารณาวัคซีนซิโนแวคที่ขอขยายการฉีดในเด็กอายุ 3-17 ปี ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์นี้ ซึ่งหากผ่านการอนุมัติ จะเป็นทางเลือกให้พ่อแม่ผู้ปกครองต่อไป แต่การฉีดวัคซีนยังอยู่ที่ดุลยพินิจของกุมารแพทย์เป็นหลัก
ส่วนการรับผู้เดินทางเข้าประเทศในระบบ Test & Go ที่เริ่มเปิดอีกครั้งเมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565 ได้ปรับมาตรการให้เข้มข้นขึ้น มีการลงทะเบียน Thailand Pass เพื่อติดตามและกำหนดให้ต้องตรวจ RT-PCR 2 ครั้ง ในวันแรกที่มาถึงไทยและวันที่ 5 อย่างไรก็ตาม ต้องขอความร่วมมือผู้ประกอบการเข้มงวดการปฏิบัติตามมาตรการที่กำหนด ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยได้รับความเชื่อถือจากต่างชาติ โดยจะเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อพร้อมรับมือและปรับเปลี่ยนมาตรการต่าง ๆ ให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป