กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ลงนามบันทึกความร่วมมือ (MOU) ส่งเสริมการออมให้ทนายความ พนักงาน ลูกจ้าง และประชาชนทั่วไป ที่ประกอบอาชีพอิสระ ได้มีโอกาสรับสวัสดิการบำนาญจากรัฐ ผ่านการสมัครสมาชิกการออมกับ กอช. พร้อมรับเงินสมทบจากรัฐ เพื่อชีวิตในวัยเกษียณ
วันนี้ (7 กุมภาพันธ์ 2565) กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ร่วมกับสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การส่งเสริมการออม โดยมีนางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และว่าที่ร้อยตรี ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความ เป็นผู้ลงนาม ณ ห้องประชุมชั้น ๓ สภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์
นางสาวจารุลักษณ์ เรืองสุวรรณ เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) กล่าวว่า กองทุนการออมแห่งชาติ หรือ กอช. เป็นกองทุนบำนาญภาคประชาชนมีภารกิจสำคัญในการผลักดันให้ประชาชนที่ไม่มีสวัสดิการจากรัฐบาลได้เข้าถึงการออม สอดรับกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ยุทธศาสตร์ที่ 4 ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม เสริมสร้างเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจฐานรากของประเทศ เสริมเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจพื้นฐานของประเทศ รวมถึงรองรับสภาพสังคมของประเทศที่มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสู่สังคมผู้สูงอายุ เพื่อให้คนไทยได้ตระหนักถึงการออมเงินไว้ใช้ยามเกษียณหลังอายุ 60 ปี สำหรับผู้ที่มีอายุระหว่าง 15 – 60 ปี ซึ่งในความร่วมมือกับสภาทนายความในพระบรมราชูปถัมภ์ จะร่วมกันเสริมสร้างการตระหนักรู้ในเรื่องการวางแผนทางการเงินเพื่อวัยเกษียณ ให้แก่ทนายความ พนักงาน และลูกจ้าง รวมถึงหน่วยงานที่อยู่ในโครงสร้างหรือการกำกับดูแลของสภาทนายความ ได้เข้าใจและเข้าถึงสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากการเป็นสมาชิก กอช. เพื่อช่วยเสริมความมั่นคงทางการเงินหลังวัยเกษียณให้เข้มแข็งและยั่งยืนเพิ่มมากขึ้น
สำหรับผู้ที่ประกอบอาชีพอิสระ พนักงาน ลูกจ้างที่ยังไม่มีระบบสวัสดิการอื่นๆ ก็สามารถรับบำนาญในยามเกษียณได้เช่นเดียวกับข้าราชการ ด้วยการวางแผนการออมเงินกับ กอช. ช่วยสร้างหลักประกันความมั่นคงในวัยเกษียณ ให้สามารถพึ่งพาตนเองได้ เมื่อแก่ตัวไปไม่เป็นภาระลูกหลาน ด้วยบำนาญรายเดือนนอกจากเงินที่ได้รับจากการออมกับ กอช. แล้ว ยังรับสิทธิประโยชน์จากการออมเพิ่มถึง 3 ต่อ
ต่อที่ 1 รับเงินสมทบเพิ่มจากรัฐ ตามช่วงอายุของสมาชิก
• ช่วงอายุ 15 - 30 ปี รัฐสมทบให้ 50% ของเงินออมแต่ละครั้ง โดยรวมกันทั้งปีไม่เกิน 600 บาท คิดเป็นดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร 4.54%*
• ช่วงอายุ >30 – 50 ปี รัฐสมทบให้ 80% ของเงินออมแต่ละครั้ง โดยรวมกันทั้งปีไม่เกิน 960 บาท คิดเป็นดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร 7.27%*
• ช่วงอายุ >50 – 60 ปี รัฐสมทบให้ 100% ของเงินออมแต่ละครั้ง โดยรวมกันทั้งปีไม่เกิน 1,200 บาท คิดเป็นดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร 9.09%*
*เงินสมทบจากรัฐบาลคิดเป็นดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนโดยประมาณ
ต่อที่ 2 ผลตอบแทนของเงินออมสะสม และเงินสมทบที่นำไปลงทุน
ต่อที่ 3 ลดหย่อนภาษีได้เต็มจำนวนเงินออมสะสม
ทั้งนี้ กอช. มีช่องทางอำนวยความสะดวกให้สมาชิกได้หลากหลายช่องทาง อาทิ แอปพลิเคชัน “กอช.” ที่ว่าการอำเภอทั่วประเทศ สำนักงานคลังจังหวัด สถาบันการเงินชุมชน ตัวแทน กอช. ประจำหมู่บ้าน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ทุกสาขา รวมทั้งไปรษณีย์ไทย สหกรณ์ชุมชนที่เข้าร่วม เคาน์เตอร์เซอร์วิส เทสโก้โลตัส บิ๊กซี ตู้บุญเติม และเครือข่ายรับสมัครทั่วประเทศ
ว่าที่ร้อยตรี ดร.ถวัลย์ รุยาพร นายกสภาทนายความ กล่าวว่า ปัจจุบันสภาทนายความมีผู้ประกอบวิชาชีพทนายความที่ขึ้นทะเบียนแล้ว จำนวน 80,000 คนทั่วประเทศ เป็นศูนย์รวมขององค์ความรู้ ด้านวิชาชีพทนายความ เพื่อให้คำปรึกษาแก่บุคคลทั่วไป นิติบุคคล หรือหน่วยงานของรัฐ เป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ ในการร่วมมือกับ ศาล หน่วยงานต่างๆ ด้านยุติธรรม ทั้งภายในประเทศ และระดับสากล รวมถึงส่งเสริมและกำกับผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ ให้มีจรรยาบรรณวิชาชีพ และให้บริการอย่างมืออาชีพ
โดยความร่วมมือในครั้งนี้ สภาทนายความ ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการวางแผนชีวิตของผู้ประกอบวิชาชีพทนายความ เนื่องจากเป็นผู้ประกอบอาชีพอิสระ มีบางส่วนมิได้สังกัดหน่วยงาน จึงไม่ได้รับสิทธิสวัสดิการอย่างทั่วถึง สภาทนายความจึงพร้อมที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้ทนายความ พนักงาน ลูกจ้างและประชาชนทั่วไป ได้สมัครและวางแผนออมเงินกับ กอช. เพื่อรับสิทธิประโยชน์จากการเป็นสมาชิกและมีเงินบำนาญใช้ในวัยเกษียณ รวมถึงส่งเสริม สนับสนุนการจัดกิจกรรมให้ความรู้ด้านการวางแผนการเงิน และประชาสัมพันธ์กิจกรรมอื่นๆ ของ กอช. เพื่อให้บุคคลที่มีสิทธิสมัครเป็นสมาชิก หรือคนที่สมัครเป็นสมาชิก กอช. มีการออมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2565 นี้ สภาทนายความจะดำเนินการอบรมให้ความรู้ด้านการวางแผนการเงินร่วมกับ กอช. ทั้งสิ้น จำนวน 5 รุ่น รุ่นละ 2,000 คน