วันนี้ (18 ก.พ. 65) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กห. ชี้แจงข้อกล่าวหาจากฝ่ายค้านในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยสามัญประจำปี ครั้งที่ 2 โดยระบุถึงการแก้ไขปัญหาความยากจนที่มุ่งเน้นประชาชนทุกกลุ่ม ทั้งการลดหนี้ภาคครัวเรือนและปัญหาที่ดินทำกิน ซึ่งรัฐบาลได้มีการเตรียมแผนงานอย่างเป็นระบบ ทั้งระยะปานกลาง – ยาว และหากข้อสังเกตใดที่เป็นประโยชน์ ก็พร้อมจะนำไปขับเคลื่อนต่อไป
ในปี 2565 รัฐบาลกำหนดให้เป็นปีแห่งการแก้หนี้ภาคครัวเรือน ใน 8 เรื่องสำคัญ เช่น หนี้ กยศ. หนี้เช่าซื้อรถยนต์ - จักรยานยนต์ หนี้สินข้าราชการ หนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ฯลฯ ภายใต้แนวคิด “การขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืน ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง” เป็นการแก้ปัญหาความยากจนแบบมุ่งเป้าแต่ละครัวเรือน วางกลไกครอบคลุมตั้งแต่ระดับนโยบายไปถึงระดับปฏิบัติ
รัฐบาลพยายามสร้างโอกาสให้เกิดกับประเทศ พยายามหารายได้ใหม่ ๆ สร้างงานใหม่ ๆ ให้กับประชาชน ประเทศไทยต้องมีการลงทุนและเตรียมความพร้อมที่จะเติบโตไปพร้อมกับแนวโน้มเศรษฐกิจใหม่ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายลง ใน 4 เรื่อง ได้แก่ 1.การใช้เทคโนโลยีดิจิทัล 2.การลดปริมาณคาร์บอน 3.การค้าและการลงทุน 4.การพัฒนาด้านการแพทย์ ยา และวัคซีน
รวมถึง 5 อุตสาหกรรมเป้าหมาย S-curve ที่ต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า/ อุตสาหกรรมท่องเที่ยว/ อุตสาหกรรมดิจิทัล/ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์/ อุตสาหกรรมยา เป็นโอกาสของนักลงทุนต่างชาติที่มีความสามารถ พร้อมด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีสมัยใหม่
อ่านเพิ่มเติม คลิก
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/51714