วันนี้ (24 กุมภาพันธ์ 2565) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.ณัฐพงศ์ วงศ์วิวัฒน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์ และ นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค แถลงข่าวสถานการณ์โควิด 19 การรับวัคซีนเข็มกระตุ้น และแนวทางการดูแลรักษา
นพ.โสภณกล่าวว่า ขณะนี้การติดเชื้อพบในทุกวัย จำนวนมากสุดเป็นวัยทำงาน ไปสถานบันเทิงหรือสถานที่เสี่ยง และมาแพร่ต่อในชุมชนและครัวเรือน ซึ่งการระบาดของโอมิครอนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2565 กลุ่มที่ติดเชื้อสูงสุด คืออายุ 20-29 ปี ขณะที่กลุ่มอายุน้อยกว่า 19 ปีลงมามีแนวโน้มติดเชื้อสูงขึ้น ส่วนผู้สูงอายุมีอัตราการติดเชื้อต่ำที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มอายุอื่น แต่มีอัตราการเสียชีวิตสูงสุด โดยกลุ่มอายุ 70 ปีขึ้นไป อัตราเสียชีวิต 2.86% และอัตราเสียชีวิตจะลดลงตามช่วงอายุลงไป ซึ่งข้อมูลผู้เสียชีวิตอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม - 18 กุมภาพันธ์ 2565 จำนวน 666 ราย พบว่าไม่ได้ฉีดวัคซีน 387 ราย หรือ 58% จึงจำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนผู้สูงอายุ โดยเฉพาะที่ยังไม่ได้รับวัคซีน และให้วัคซีนเข็มกระตุ้นกับผู้ที่ฉีดครบแล้ว 2 เข็มนานกว่า 3-6 เดือน
นพ.โสภณกล่าวว่า จากข้อมูลช่วงเวลาเดียวกันยืนยันว่าการรับวัคซีนโควิดจะช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้ดีมาก จากข้อมูลผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีน 2.2 ล้านคน เสียชีวิต 387 ราย อัตราเสียชีวิตสูงถึง 178 รายต่อล้านคน รับวัคซีน 1 เข็ม มี 6 แสนราย เสียชีวิต 66 ราย อัตราเสียชีวิต 112 รายต่อล้านคน ลดลงเล็กน้อย แต่รับวัคซีน 2 เข็ม 6.2 ล้านราย เสียชีวิต 197 ราย อัตราเสียชีวิตลดลงเหลือ 32 รายต่อล้านคน หรือลดลง 6 เท่าจากผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน และกรณีรับเข็มกระตุ้นแล้วมี 3.7 ล้านราย เสียชีวิต 16 ราย อัตราเสียชีวิตลดลงเหลือ 4 รายต่อล้านคน หรือเสี่ยงลดลงถึง 41 เท่าเทียบกับผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้รับวัคซีน
“เราฉีดวัคซีนผู้สูงอายุแล้ว 82.8% ถือว่าเปอร์เซ็นต์สูง แต่ควรให้ได้เพิ่มขึ้นอีก จึงต้องเร่งรัดดำเนินการค้นหาผู้สูงอายุที่ยังไม่ได้ฉีดวัคซีน ให้ความรู้ สร้างแรงจูงใจ และกระตุ้นให้รับวัคซีน รวมถึงรณรงค์ฉีดเข็มกระตุ้นสำหรับผู้ที่ฉีด 2 เข็มแล้วนานกว่า 3-6 เดือน หากทุกฝ่ายช่วยกันเต็มที่ในช่วง 1-2 เดือนข้างหน้านี้ จะทำให้ผู้สูงอายุรับวัคซีนในสัดส่วนที่สูงขึ้น ยิ่งมากยิ่งดีเพราะจะช่วยป้องกันความเสี่ยงในช่วงสงกรานต์ที่ลูกหลานจะกลับไปเยี่ยม จะได้ปลอดภัยมากขึ้น” นพ.โสภณกล่าว
นพ.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วประเทศมีเตียงรักษาโควิด 1.8 แสนเตียง อัตราครองเตียง 50% ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มอาการสีเขียว ดังนั้น ยังมีเตียงรองรับกลุ่มอาการหนัก อย่างไรก็ตาม ต้องทำความเข้าใจการเข้าสู่ระบบรักษาพยาบาลหลังติดเชื้อ โดยผู้ที่มีอาการหรือเป็นโรคอื่นแล้วไปตรวจที่โรงพยาบาลและพบผลบวก จะจัดเข้าระบบรักษาที่บ้าน (HI) หรือโรงพยาบาลตามระดับอาการ, กรณีตรวจ ATK ด้วยตนเองแล้วผลบวก ไม่ต้องตรวจ RT-PCR ซ้ำ ให้โทรสายด่วน 1330 เข้าระบบได้เลย หากไม่มีอาการจะจัดเข้า HI ก่อน หากทำไม่ได้จะจัดเข้าสู่ศูนย์พักคอย (CI) แต่หากมีอาการมากขึ้นโรงพยาบาลที่ดูแลจะส่งไปศูนย์จัดหาเตียงและเข้าโรงพยาบาลหลักต่อไป หรือโทรประสาน 1669 หากมีอาการฉุกเฉินส่วนผู้ที่มีผล ATK เป็นบวก แต่ต้องการมาตรวจที่โรงพยาบาล หากมาคลินิกทางเดินหายใจ พยาบาลจะคัดกรองผล ATK ว่าเชื่อถือได้หรือไม่ หากเชื่อถือได้จะประเมินอาการเพื่อเข้าระบบรักษาต่อไป หากผลเชื่อถือไม่ค่อยได้ จะตรวจด้วย ATK แบบ Professional Use ไม่ได้ทำ RT-PCR เนื่องจากใช้เวลานานในการรอ อาจมีโอกาสรับเชื้อหรือแพร่เชื้อให้คนอื่น และกรณีมีอาการแต่ไม่ได้ทำ ATK หากเดินทางมาคลินิกทางเดินหายใจ แพทย์จะประเมินความเสี่ยง อาจให้ตรวจ ATK หรือบางรายจำเป็นต้องทำ RT-PCR เช่น เป็นกลุ่มเสี่ยงมาก หรือต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล
“ช่องทางหลักติดต่อคือ 1330 ซึ่งช่วงนี้มีผู้ป่วยโทรเข้ามาก อาจทำให้สายติดขัดหรือไม่ว่าง แต่ สปสช.ได้เพิ่มกำลังคน มีภาคประชาสังคมและภาคเอกชนส่งคนมาช่วยรับสาย และใช้ระบบคอมพิวเตอร์คัดกรองผู้ป่วยอัตโนมัติโอนให้คลินิกโทรกลับ นอกจากนี้ สามารถโทรเบอร์ประจำจังหวัดและประจำเขตใน กทม. 50 เขตได้ รวมถึงให้ข้อมูลผ่านไลน์และเว็บไซต์ สปสช. ส่วนกรณียังไม่ได้รับยาหรืออุปกรณ์ ให้แจ้งแพทย์ที่ติดตามอาการทุกวัน” นพ.ณัฐพงศ์กล่าว
ด้าน นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า การดูสถานการณ์โควิด 19 ต่อจากนี้จะเน้นที่ผู้ป่วยอาการหนักและเสียชีวิตเป็นหลัก ซึ่งสถานการณ์ของไทยอยู่ในช่วงขาขึ้นจากสายพันธุ์โอมิครอน โดยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา การติดเชื้อเฉลี่ย 14 วัน เพิ่มขึ้นประมาณ 70% จากการผ่อนคลายมาตรการมากขึ้น และประชาชนบาส่วนไม่ได้เคร่งครัดป้องกันตนเองเท่าเดิม สำหรับผู้ป่วยปอดอักเสบ ใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตเพิ่มขึ้น 2 เท่า ตามการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้น แต่เมื่อเทียบกับการติดเชื้อสายพันธุ์เดลตาช่วงที่มีผู้ติดเชื้อเท่าๆ กัน พบว่าการเสียชีวิตต่ำกว่าถึง 10 เท่า เนื่องจากสายพันธุ์โอมิครอน รุนแรงน้อยกว่า แต่หากมีการติดเชื้อจำนวนมาก อาจแพร่มาสู่คนที่มีโรคประจำตัวหรือไม่ได้ฉีดวัคซีน ทำให้มีอาการรุนแรงและมีโอกาสเสียชีวิตได้ ดังนั้น กระทรวงสาธารณสุขจึงยังคงประกาศเตือนภัยระดับ 4 ขอให้ประชาชนดูแลป้องกันตนเองไม่ให้ติดเชื้อ งดเข้าสถานที่เสี่ยงทั้งหมด คือ สถานที่ปิดทึบ ไม่มีการระบายอากาศ มีคนหนาแน่น ถอดหน้ากากรับประทานร่วมกันเป็นเวลานาน และไม่มีการตรวจคัดกรอง ATK นอกจากนี้ ขอให้เลี่ยงการรวมกลุ่มคนจำนวนมาก และชะลอการเดินทางในทุกจังหวัด ส่วนกลุ่มเสี่ยง 608 ต้องรับวัคซีน
24 กุมภาพันธ์ 2565