คนสูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรค และหญิงตั้งครรภ์ หากติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ถึงแม้จะได้รับวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าแล้ว 2 เข็ม หรือถ้าได้วัคซีนเชื้อตายซิโนแวค หรือซิโนฟาร์ม 2 เข็ม ตามด้วยวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าอีก 1 เข็ม เชื้อก็ยังอาจลงปอด เกิดปอดอักเสบได้ จำเป็นต้องฉีดเข็มกระตุ้นด้วยวัคซีน mRNA ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นาอีก 1 เข็มถึงจะปลอดภัยมากขึ้น
ผู้ป่วยหญิงไทยอายุ 93 ปี เป็นโรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง หัวใจเต้นผิดจังหวะ เคยผ่าตัดมะเร็งเต้านม 2 ปีก่อน ฉีดวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเข็มแรกเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2564 และเข็ม 2 วันที่ 13 กันยายน 2564 เตรียมตัวจะฉีดวัคซีนไฟเซอร์ แต่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เสียก่อน ผู้ป่วยไม่ได้ออกนอกบ้าน แต่ติดเชื้อโควิดวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2565 จากคนงานในบ้าน มีเจ็บคอ น้ำมูก ไอบ้าง ไม่มีไข้ ไม่เหนื่อย จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส ไม่มีท้องเสีย มาโรงพยาบาลวันที่ 7 กพ. ตรวจ ATK ให้ผลบวก ยืนยันด้วยการตรวจ RT-PCR SARS-CoV2 วัดระดับออกซิเจนที่ปลายนิ้วปกติ 96 % เอกซเรย์ปอดปกติ คนไข้สมัครใจขอนอนรักษาตัวที่บ้าน โทรศัพท์ติดตามทุกวัน ไม่ได้ให้ยาฟาวิพิราเวียร์ เพราะผู้ป่วยกินยาเบาหวาน และไม่มีการศึกษาเปรียบเทียบยาฟาวิพิราเวียร์กับยาหลอกว่ายาฟาวิพิราเวียร์สามารถลดการป่วยหนักและการเสียชีวิตได้
ติดตามคนไข้ทางโทรศัพท์ทุกวันจนวันที่ 7 หลังติดเชื้อไวรัสโควิด ผู้ป่วยกินอาหารได้น้อย น้ำตาลในเลือดตกเหลือ 53 mg% เริ่มมีไข้ เหนื่อยให้เข้ามานอนในโรงพยาบาลทันทีวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 65 มีไข้ อุณหภูมิ 39 องศาเซลเซียส ระดับออกซิเจนในเลือดตกเหลือ 92 % เอกซเรย์ปอดเริ่มมีฝ้าขาวทั้ง 2 ข้าง (ดูรูป) เม็ดเลือดขาวในเลือดต่ำ 4,490 ค่าอักเสบในเลือด hs-CRP 57 สูง (ค่าปกติ 0-5) LDH 312 สูงเล็กน้อย (ค่าปกติ 120-246) ได้ออกซิเจนทางจมูก (nasal cannula) 3 ลิตร/นาที ให้การรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ทางเส้นเลือด 5 วัน ไข้ลง ไม่เหนื่อย ระดับออกซิเจนในเลือดดีขึ้น เอกซเรย์ปอดดีขึ้น คนไข้กลับบ้านได้ ไม่ต้องใช้ออกซิเจน หลังนอนโรงพยาบาล 6 วัน ติดตามเอกซเรย์ปอด 1 สัปดาห์หลังออกจากโรงพยาบาล เอกซเรย์ปอดกลับมาเป็นปกติ (ดูรูป) ปัจจุบันคนไข้สบายดี ไม่เหนื่อย ไม่ไอ กินอาหารได้ดี ถ้าก่อนหน้านี้คนไข้ได้รับวัคซีน mRNA ไฟเซอร์ หรือโมเดอร์นา กระตุ้นเป็นเข็มที่ 3 อาการหลังติดเชื้อโอมิครอนคงจะเบากว่านี้
ข้อมูลจาก หมอมนูญ