เลขาธิการ สปสช. ปรับเกณฑ์อัตราการจ่ายเงินค่าบริการแก่โรงพยาบาลรับดูแลผู้ติดเชื้อโควิด แบบ "ผู้ป่วยนอก" หรือ OPD เบื้องต้นจ่ายรพ.ค่าดูแล ค่าปรึกษาเฉลี่ย 1,000 บาท 48 ชม. ทำความเข้าใจประชาชนไม่ได้จ่ายชดเชยผู้ติดเชื้อ แต่จ่ายให้หน่วยบริการ พร้อมสร้างความเข้าใจสถานพยาบาลทุกแห่ง 3 มี.ค.นี้
ตามที่ สปสช. ออกหลักเกณฑ์การจ่ายค่าบริการผู้ติดเชื้อโควิดฯ แบบผู้ป่วยนอกตามแนวทาง "เจอ แจก จบ" โดยจะให้ค่าบริการแก่หน่วยบริการหรือสถานพยาบาลที่เปิดคลินิกรับดูแลผู้ป่วยนอก หรือ OPD เบื้องต้น 1,000 บาทนั้น ปรากฎว่า มีประชาชนสอบถามว่า การจ่ายเงินค่าบริการดังกล่าวเป็นการจ่ายชดเชยให้กับประชาชนที่ติดเชื้อหรือไม่นั้น
ความคืบหน้าเมื่อวันที่ 2 มี.ค.2565 นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ให้สัมภาษณ์ Hfocus เรื่องนี้ ว่า การจ่ายค่าบริการดังกล่าว ไม่ใช่ให้ผู้ติดเชื้อโควิด แต่เป็นการจ่ายค่าบริการให้กับหน่วยบริการ หรือสถานพยาบาลที่จัดทำแนวทางเวชปฏิบัติการวินิจฉัย ดูแลรักษาและการให้บริการผู้ติดเชื้อโควิด-19 แบบผู้ป่วยนอก ซึ่งเป็นแนวทางของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อเตรียมความพร้อมการดูแลผู้ป่วยแบบโรคประจำถิ่น (Endemic) โดยเสริมบริการดังกล่าวขึ้นมา สำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีภาวะเสี่ยง ซึ่งเริ่มดำเนินการไปแล้วตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค. 2565 ที่ผ่านมานั้น
เลขาธิการสปสช. กล่าวอีกว่า อย่างที่ผ่านมาการดูแลผู้ป่วยตามระบบ Home Isolation (HI) และ Community Isolation (CI) เราก็มีเกณฑ์การจ่ายค่าบริการให้หน่วยบริการหรือรพ. หรือคลินิกที่ดูแลผู้ป่วยผ่านระบบการรักษาที่บ้านและชุมชน อย่างตอนนั้นมีคนบอกว่า ให้ค่าอาหารประชาชนเลยได้หรือไม่ ตามกฎหมายไม่สามารถทำได้ อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการเพิ่มการบริการให้ผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการ ด้วยการรักษาแบบผู้ป่วยนอก หรือ โอพีดีนั้น สปสช.จึงต้องทำเกณฑ์การเบิกจ่ายเฉพาะกรณีนี้ เนื่องจากการโทรสอบถามติดตามอาการผู้ป่วยจะอยู่ที่ 48 ชั่วโมง หรือ โทร 2 ครั้ง จึงให้เบิกได้จำนวน 1,000 บาท
นพ.จเด็จ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ หากหลังการดูแลครบ 48 ชั่วโมง แต่พบว่าผู้ป่วยมีอาการเปลี่ยนแปลง และมีการให้บริการโทรให้คำปรึกษา ทางสปสช.จะจ่ายให้อีก 300 บาท เฉลี่ยคือ จะจ่ายให้หน่วยบริการตั้งแต่ 1,000- 1,300 บาท อันนี้ไม่รวมค่าเอ็กซเรย์ หากเดินทางไปคลินิกแล้วแพทย์วินิจฉัยว่า จำเป็นต้องเอ็กซเรย์ก็จะจ่ายเพิ่มอีก 100 บาท หรือกรณีผู้ป่วยเดินมาที่คลินิก แพทย์สั่งตรวจ ATK ก็จ่ายอีก 250 บาท หรือถ้าจำเป็นต้องตรวจ RT-PCR ก็จ่ายให้หน่วยบริการอีก 900 บาท
ผู้สื่อข่าวถามว่า มีประชาชนสงสัยว่าหากต้องการรักษาแบบโอพีดี แต่ไม่มีรถส่วนตัว สามารถประสานสาธารณสุขพื้นที่ขอรถได้หรือไม่ นพ.จเด็จ กล่าวว่า จริงๆอาการของผู้ป่วยที่จะเดินทางมารักษาแบบผู้ป่วยนอก คือ ไม่มีอาการ หรืออาการน้อยมากๆ ซึ่งการที่ประสานรถ ส่วนใหญ่เราเตรียมไว้กรณีผู้ป่วยในระบบ HI และเริ่มมีอาการเปลี่ยนแปลงก็จะมีรถไปรับ ซึ่งเดิมทีจะใช้รถพยาบาลฉุกเฉินหรือ Ambulance แต่ขณะนี้เราก็มีโมเดลของรพ.ราชวิถี ที่มีรถแท็กซี่ที่เข้าร่วม แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะใช้ได้หมด อยู่ที่การประเมินอาการ
เมื่อถามว่ามีกระแสวิพากษ์วิจารณ์ว่าการจัดระบบโอพีดีมาจากติดต่อสายด่วน 1330 ไม่ได้ ทำให้ไม่ได้รับการรักษาในระบบ นพ.จเด็จ กล่าวว่า การติดต่อ 1330 ไม่ได้ ไม่ใช่สาเหตุของการจัดระบบรักษาแบบผู้ป่วยนอก เราต้องยอมรับว่า ผู้ป่วยเพิ่มขึ้น เนื่องจากโอมิครอนเป็นสายพันธุ์ติดง่าย แต่อาการไม่รุนแรงมาก ดังนั้น สธ.จึงเพิ่มการบริการเข้ามาในรูปแบบโอพีดี แต่ก็ยังมีรูปแบบการรักษา HI และ CI เช่นเดิม อย่างไรก็ตาม เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การจ่ายค่าบริการให้รพ.กรณีรักษาผู้ป่วยนอก จะมีการชี้แจงทำความเข้าใจเพิ่มเติมในวันที่ 3 มี.ค.นี้