รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงพื้นที่ให้กำลังใจบุคลากร เจ้าหน้าที่ ผู้ปกครองและเด็กนักเรียน ที่เข้ารับบริการฉีดวัคซีนโควิด19 ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ (โรงพยาบาลแม่และเด็ก) จ.เชียงใหม่ พร้อมขอความร่วมมือให้ผู้ปกครองช่วยกันนำผู้สูงอายุที่บ้านมารับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เพื่อลดอาการป่วยรุนแรงและเสียชีวิตหากติดเชื้อ
วันนี้ (19 มีนาคม 2565) ที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ (โรงพยาบาลแม่และเด็ก) อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายธนิตพล ไชยนันทน์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายแพทย์สราวุฒิ บุญสุข รองอธิบดีกรมอนามัย นายแพทย์ทศเทพ บุญทอง สาธารณสุขนิเทศก์ เขตสุขภาพที่ 1 และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมให้กำลังใจบุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่โรงพยาบาล และเยี่ยมชมจุดให้บริการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด 19 ในกลุ่มเด็ก 5 – 11 ปี
ดร.สาธิต กล่าวว่า ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 ที่ผ่านมา โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ (โรงพยาบาลแม่และเด็ก) ได้มีส่วนร่วมในการจัดบริการผู้ป่วยโควิดอย่างเข้มแข็ง โดยมีศูนย์ดูแลแม่และเด็กที่ติดเชื้อโควิด 19 ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – ตุลาคม 2564 ดูแลแม่และเด็กที่ติดเชื้อรวม 91 ราย และยังจัดตั้งโรงพยาบาลสนามสำหรับดูแลแม่และเด็กที่ติดเชื้อ เพื่อรองรับและแบ่งเบาภาระในการดูแลประชาชนกลุ่มเสี่ยงและเปราะบางในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ รวมถึงมีพื้นที่พิเศษดูแลแม่ เด็กและหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข ให้ผู้ปกครองสามารถอยู่ร่วมดูแลเด็กเล็กในขณะที่พักรักษาตัว เพื่อให้ความอบอุ่น ปลอดภัย และสะดวกต่อการดูแล
นอกจากนี้ ยังได้จัดบริการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 โดยวันนี้มีผู้ปกครองนำเด็กนักเรียนมาเข้ารับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ ฝาสีส้ม จากโรงเรียนต่างๆ ในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ 13 แห่ง จำนวน 470 คน ซึ่งตั้งแต่เมษายน 2564 ถึง กุมภาพันธ์ 2565 ศูนย์บริการฉีดวัคซีนโควิด 19 โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ จ.เชียงใหม่ ให้บริการฉีดวัคซีนไปแล้ว 83,804 ราย ทั้งนี้ ได้ย้ำผู้ปกครองที่นำเด็กมาฉีดวัคซีนให้ช่วยกันรณรงค์นำผู้สูงอายุที่บ้านเข้ามารับการฉีดวัคซีนเข็มที่ 3 เป็นเข็มกระตุ้นด้วย เนื่องจากจะช่วยลดอาการป่วยรุนแรงและลดการเสียชีวิต หากติดเชื้อโควิด 19 ได้
สำหรับโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพ (โรงพยาบาลแม่และเด็ก) ศูนย์อนามัยที่ 1 เชียงใหม่ มีการพัฒนาคุณภาพระบบการให้บริการด้านการส่งเสริมสุขภาพทุกกลุ่มวัยและอนามัยสิ่งแวดล้อม ตลอดจนเสริมสร้างความรอบรู้ด้านสุขภาพให้ผู้มารับบริการทุกกลุ่มวัยและครอบครัว ให้สามารถดูแลสุขภาพด้วยตนเอง ปี2564 มีผู้มารับบริการแผนกผู้ป่วยนอกทั้งหมด 32,999 ราย