เพราะโรคอ้วน เป็นเรื่องที่ทุกคนต้องลงมือแก้ไข อุบัติการณ์โรคอ้วนในประเทศไทยเพิ่มขึ้นมากกว่า ร้อยละ 30 หรือมีผู้ป่วยด้วยโรคอ้วนกว่า 20 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด นำมาซึ่งความเสี่ยงกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือ NCDs ได้แก่ โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด และโรคมะเร็ง สิ่งที่ตามมา คือ ตัวเลขของมูลค่าค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่สูงขึ้นตามไปด้วย สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่สังคมไทยต้องหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค การใช้ชีวิตวิถีใหม่ สร้างค่านิยมใหม่ให้สังคมไทยห่างไกลจากความอ้วน
ด้วยภารกิจ “ป้องกัน” ก่อน “รักษา” เป็นสิ่งที่ สสส. ยึดมั่น และเป็นแนวทางในการทำงานขับเคลื่อนให้คนไทยมีสุขภาวะที่ดีครบทั้ง 4 ด้าน กาย จิต ปัญญา สังคม ซึ่งหนึ่งในภารกิจขับเคลื่อนงานสุขภาวะ 4 ด้าน ก็คือ สุขภาวะทางกาย ปัญหาโรคอ้วนนั้นเราทราบกันดีว่าเกิดจากพฤติกรรมการใช้ชีวิต ดังนั้น สิ่งที่จะช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน ก็คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ด้วยเหตุนี้ จึงเป็นที่มาของการจัดเสวนา เรื่อง วันอ้วนโลก: ทุกคนต้องลงมือแก้ไข เนื่องในวันอ้วนโลก ซึ่งปีนี้ใช้แคมเปญว่า “World Obesity Day: Everybody Needs to Act” โดยความร่วมมือของกองโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย ราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
ศ.พญ.ลัดดา เหมาะสุวรรณ กรรมการบริหารสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย กล่าวต่อว่า ภาวะอ้วนสำหรับผู้ใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี เป็นปัญหาสุขภาพที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และด้วยสถานการณ์โควิด-19 ที่กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตเปลี่ยนไป คนออกกำลังกายน้อยลง เลือกกินอาหารง่าย ๆ ประหยัดเวลา แต่มีประโยชน์ต่อร่างกายน้อย ทำให้กราฟจำนวนผู้ป่วยโรคอ้วนพุ่งสูงขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด-19
“เรื่องอาหารการกินเป็นปัจจัยสำคัญ การแก้ไขปัญหาต้องควบคุมการบริโภคอาหารให้เหมาะสม ลดอาหารหวาน มัน เค็ม เกินไป ดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ เลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง มีกิจกรรมทางกายที่เพิ่มขึ้น ส่วนเด็กเล็กควรหลีกเลี่ยงการปรุงแต่งรสชาติ ดื่มน้ำสะอาด นมจืด ไม่สอนให้กินน้ำอัดลม และฝึกกินผักให้เป็นนิสัย โดยเริ่มจากครอบครัวต่อเนื่องไปยังโรงเรียน สร้างค่านิยมการกินอาหารและพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่ถูกต้อง ก็จะช่วยให้ทุกคนห่างไกลจากโรคอ้วนได้” ศ.พญ.ลัดดา กล่าว
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวว่า โรคที่เกิดขึ้นกับคนไทย 2 ใน 3 ส่วนใหญ่มาจากพฤติกรรมการใช้ชีวิตและสภาพแวดล้อมทางสังคมที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งเกิดจากพฤติกรรมการกินหวานที่ล้นเกิน โดยบริโภคน้ำตาลมากกว่า 6 ช้อนชาต่อวัน เสี่ยงต่อการเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (โรค NCDs) ซึ่งผลสำรวจพบว่า ร้ายแรงกว่าโควิด-19 ถึง 5 เท่า เพราะพบคนไทยเสียชีวิตจากโรค NCDs เฉลี่ยวันละ 1,000 คนต่อวัน
สสส. และภาคีเครือข่ายสุขภาพ ได้ร่วมกันขับเคลื่อนและรณรงค์ให้คนไทยหันมาปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้ชีวิตใหม่ ส่งเสริมให้มีกิจกรรมทางกายที่มากขึ้น ด้วยการสร้างองค์ความรู้ที่ถูกต้อง ผ่านสื่อและกิจกรรมต่าง ๆ สร้างภาพจำใหม่ให้สังคมว่า “โรคอ้วน เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องร่วมกันแก้ไข ไม่ใช่เป็นเพียงเรื่องราวของใครคนใดคนหนึ่ง” รวมถึงการผลักดันนโยบายสุขภาพที่ครอบคลุมทุกมิติให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอีกด้วย