ผศ.ดร.วรรณพร ทองตะโก คณะวิทยาศาสตร์การกีฬา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวถึงการฝึกหายใจในผู้ป่วยโรคโควิด-19 และหลังรักษาหาย (Post COVID syndrome) หรือภาวะ Long COVID ว่า ในปัจจุบันประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ต่อวันเพิ่มมากขึ้น และมักพบอาการผิดปกติหรือมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ในผู้ป่วยโควิด-19 หลังรักษาหาย (Post COVID syndrome) หรือภาวะ Long COVID โดยอาการที่พบแตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล ซึ่งอาจเป็นอาการที่ยังพบอยู่หลังรักษาหายหรืออาจเป็นอาการที่เกิดขึ้นใหม่ สามารถเกิดได้ในทุกระบบของร่างกาย ได้แก่ ระบบหายใจ ระบบหัวใจและหลอดเลือด ระบบประสาท ระบบภูมิคุ้มกัน และสุขภาพจิต เป็นต้น
โดยมักพบอาการภายหลังได้รับเชื้อ 4 ถึง 12 สัปดาห์โดยอาการที่พบสามารถดีขึ้นหรือแย่ลงเมื่อเวลาผ่านไปได้หรือมีการกลับเป็นซ้ำใหม่ได้ โดยระบบหายใจเป็นระบบที่มีความสำคัญและได้รับผล กระทบโดยตรงจากเชื้อโควิด-19 ทำให้ ผู้ป่วยมีอาการหายใจลำบาก หอบเหนื่อยง่าย ไอ จาม มีเสมหะ และคัดแน่นจมูก เป็นต้น
เป็นที่ทราบกันดีว่าการฝึกหายใจ (Breathing exercise) ถูกนำมาใช้ในการฟื้นฟูสมรรถภาพปอดในผู้ป่วยที่เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ (Pulmonary diseases) เช่น โรคหืด โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคถุงลมโป่งพอง เป็นต้น ซึ่งมีงานวิจัยจำนวนมากที่แสดงให้เห็นถึงผลของการฝึกหายใจในรูปแบบต่าง ๆ ที่สามารถช่วยเพิ่มสมรรถภาพปอดและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหายใจทั้งในกลุ่มผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ กลุ่มผู้ที่มีสุขภาพดี กลุ่มผู้สูงอายุ รวมไปถึงนักกีฬา สำหรับ ในผู้ป่วยโรคโควิด-19 การฝึกหายใจก็สามารถช่วยเพิ่มออกซิเจนเข้าสู่ปอดและช่วยขับเสมหะหรือสารคัดหลั่งออกจากปอดได้ดีขึ้น รวมไปถึงการช่วยเพิ่มสมรรถภาพปอดและความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหายใจด้วยเช่นเดียวกัน
อีกทั้งการฝึกหายใจยังช่วยให้สมองผ่อนคลายและช่วยลดความเครียดและความวิตกกังวลในผู้ป่วยได้อีกด้วย ซึ่งการฝึกหายใจมีหลายวิธี เช่น การหายใจแบบลึก (Deep breathing) การหายใจโดยใช้กะบังลม (Diaphragmatic breathing) การหายใจโดยการเป่าปาก (Purse lip breathing) และการหายใจแบบโยคะ (Yoga หรือ Pranayama) เป็นต้น
โดยปกติมีคำแนะนำให้หายใจ 2-3 ครั้ง/วัน ครั้งละ 10-15 นาที/เซต ทำประมาณ 3-4 เซตต่อวัน ซึ่งจากประโยชน์ของการฝึกหายใจดังที่กล่าวมานั้น การฝึกหายใจจึงน่าจะเป็นทางเลือกหนึ่งในการที่ผู้ป่วยโควิด-19 และหลังรักษาหาย (Post COVID syndrome) หรือภาวะ Long COVID เนื่องจากส่งผลโดยตรงต่อหน้าที่การทำงานของอวัยวะที่เกี่ยวข้องกับระบบหายใจ โดยมีการศึกษาพบว่าผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้รับการหายใจแบบลึก (Deep breathing) ร่วมกับอุปกรณ์เพิ่มแรงต้านในการฝึกหายใจ 5-10 ครั้ง ทุก ๆ 1 ชั่วโมง ตั้งแต่หลังรับประทานอาหารเช้าจนถึงก่อนเข้านอน ช่วยเพิ่มระดับออกซิเจนในเลือด (SpO2) ลดอาการหอบเหนื่อยและความวิตกกังวล รวมไปถึงลดระยะเวลาในการรักษา และเพิ่มคุณภาพชีวิตในผู้ป่วย โควิด-19 ได้
ดังนั้น การฝึกหายใจในรูปแบบ ต่าง ๆ จึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจและควรปฏิบัติสำหรับผู้ป่วยโรคโควิด-19 และหลังรักษาหาย (Post COVID syndrome) หรือภาวะ Long COVID เพื่อให้ผู้ป่วยผ่อนคลายและควบคุมอาการหอบเหนื่อย ช่วยทำให้แบบแผนการหายใจกลับมาเป็นปกติ ลดงานที่ใช้ในการหายใจและลดการใช้งานของกล้ามเนื้อช่วยหายใจ นอกจากนี้ยังลดพลังงานที่ใช้ในการหายใจและเพิ่มการกระจายตัวของปริมาณอากาศในปอด ส่งผลให้การแลกเปลี่ยนแก๊สดีขึ้น จึงอาจส่งผลดีในการช่วยฟื้นฟูระบบหายใจให้กลับมาปกติ และส่งผลต่อการเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้