วันที่ 9 พ.ค. 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มีมาตรการดูแลภาระครองชีพ เพื่อบรรเทาผลกระทบแก่ประชาชนจากทั้งการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสถานการณ์ราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้นจากปัญหาความขัดแย้งในภูมิภาคยุโรป ขณะนี้หลายโครงการได้เริ่มมีผลบังคับแล้วและมีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ พ.ค.-ก.ค. อาทิ มาตรการเพิ่มส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็น 100 บาท/เดือน มาตรการส่วนลดค่าน้ำมันแก่ผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้าง มาตรการลดอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร (ค่า Ft) แก่ผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยและกิจการขนาดเล็กที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน
ทั้งนี้ อีกมาตรการที่เริ่มมีผลบังคับตั้งแต่เดือนพ.ค.- ก.ค.เช่นกัน คือการลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของผู้ประกันตนมาตรา 33 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 11.2 ล้านคน ได้ปรับลดทั้งส่วนเงินสมทบของนายจ้างและผู้ประกันตนจากเดิมร้อยละ 5 เหลือฝ่ายละร้อยละ 1 ของค่าจ้าง ส่วนของผู้ประกันตนมาตรา 39 ซึ่งมีอยู่ประมาณ 1.9 ล้านคน ปรับลดอัตราเงินสมทบจาก 432 บาทต่อเดือน ก็ลดลงเหลือ 91 บาทต่อเดือน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับผู้ประกันตนมาตรา 40 ซึ่งมีอยู่ 10.7 ล้านคน ได้มีการขยายระยะเวลาลดเงินสมทบเป็นเวลา 6 เดือนตั้งแต่ ก.พ.-ก.ค. 2565 ซึ่งเมื่อวันที่ 8 พ.ค. 2565 ที่ผ่านมา ราชกิจจานุเบกษาก็ได้เผยแพร่อัตราเงินสมทบในส่วนของรัฐบาล ซึ่งจะทำให้อัตราเงินสมทบของผู้ประกันตนกับรัฐบาลลดลง ใน 3 ทางเลือก แยกเป็น
1) ผู้ประกันตนที่เดิมจ่ายเงินสมทบอัตรา 70 บาทต่อเดือน ลดลงเป็น 42 บาทต่อเดือน รัฐบาลลดเงินสมทบจาก 30 บาทเหลือ 21 บาทต่อเดือน ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ และกรณีตาย
2) ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบในอัตรา 100 บาทต่อเดือน ลดลงเป็น 60 บาทต่อเดือน รัฐบาลลดเงินสมทบจากเดือนละ 50 บาท เหลือ 30 บาทต่อเดือน ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย และกรณีชราภาพ
3) ผู้ประกันตนที่อัตราเดิมจ่ายสมทบ 300 บาทต่อเดือน ลดลงเป็น 180 บาทต่อเดือน รัฐบาลลดเงินสมทบจาก 150 บาท เหลือ 90 บาทต่อเดือน ผู้ประกันตนมีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทน ในกรณีการประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย กรณีทุพพลภาพ กรณีตาย กรณีชราภาพ และกรณีสงเคราะห์บุตร
“รัฐบาลได้ใช้กลไกของกองทุนประกันสังคม เพื่อช่วยเพิ่มกำลังการใช้จ่ายให้กับผู้ประกันตน และลดต้นทุนให้แก่นายจ้างในช่วงระยะเวลาหนึ่ง เพื่อบรรเทาผลกระทบจากทั้งโควิด-19 และสถานการณ์ราคาพลังงาน แต่ผู้ประกันตนทุกกลุ่มทั้งตามมาตรา 33, 39 และ 40 รวมเกือบ 24 ล้านคนยังได้รับการคุ้มครองตามสิทธิประโยชน์ทดแทนเช่นเดิม” น.ส.ไตรศุลี กล่าว