เมื่อถึงเวลาที่สมาชิกออกจากราชการแล้วจะถือว่าสมาชิกสิ้นสุดการเป็นสมาชิก โดยเมื่อได้รับคำสั่งให้ออกจากราชการตามประกาศเกษียณแล้ว สมาชิก กบข. จะมีสิทธิได้รับเงิน 2 ทาง คือ เงินจากภาครัฐที่กรมบัญชีกลางเป็นผู้ดำเนินการจ่ายคืนให้ คือ เงินบำเหน็จ หรือ เงินบำนาญ (เลือกรับตามสิทธิ์) และอีกทางคือ ได้รับเงินจาก กบข. ด้วย ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. กรณีสมาชิกมีสิทธิรับและเลือกรับบำเหน็จจากภาครัฐ จะได้รับเงินจาก กบข. ในส่วนของ เงินสะสม เงินออมเพิ่ม (ถ้ามี) เงินสมทบ และผลประโยชน์ตอบแทนของเงินดังกล่าว
2. กรณีสมาชิกมีสิทธิรับและเลือกรับบำนาญจากภาครัฐ จะได้รับจาก กบข. ในส่วนของ เงินสะสม เงินออมเพิ่ม (ถ้ามี) เงินสมทบ เงินประเดิม (ถ้ามี) เงินชดเชย และผลประโยชน์ตอบแทนของเงินดังกล่าว
???? สิทธิประโยชน์ทางภาษีเมื่อสิ้นสุดสมาชิกภาพสำหรับผู้ที่เกษียณอายุราชการ สมาชิกจะได้รับยกเว้นภาษี เนื่องจากเข้าเหตุ ตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 189) ดังนั้น สมาชิกที่เกษียณอายุ เมื่อได้รับเงินคืนจาก กบข. ไปแล้วเงินที่ได้รับคืนจาก กบข. ไม่ต้องนำไปคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา รวมถึงสมาชิกยังสามารถนำเงินสะสม และเงินออมเพิ่ม (ถ้ามี) ไปลดหย่อนภาษีในปีภาษีที่เกษียณได้อีกด้วย
???? ขั้นตอนการขอรับเงินคืนจาก กบข.
สำหรับสมาชิกที่เกษียณอายุราชการ สามารถยื่นการขอรับเงินบำเหน็จบำนาญและเงิน กบข. ล่วงหน้าได้ 8 เดือนเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์เป็นต้นไป โดยสมาชิกสามารถทำผ่านระบบ Digital Pension ที่เป็นระบบของกรมบัญชีกลางได้ด้วยตนเอง หรือสมาชิกจะต้องติดต่อส่วนราชการต้นสังกัด เพื่อทำเรื่องขอรับเงินคืน ซึ่งเจ้าหน้าที่หน่วยงานสามารถทำผ่านระบบ Digital Pension ของกรมบัญชีกลางเช่นกัน โดยหากทำผ่านระบบ Digital Pension ไม่ต้องจัดส่งเอกสารมายัง กบข. แต่ถ้าไม่ทำผ่านระบบดังกล่าวสามารถจัดทำเป็นเอกสารการขอรับคืนและแนบเอกสารประกอบการยื่นเรื่องมายัง กบข. สำหรับเอกสารที่ใช้ในการขอรับเงินคืนมีดังนี้
1. กรณีรับบำนาญ
• แบบ กบข. รง 008/1/2555 (https://bit.ly/2G7moGh)
• สำเนาคำสั่งออก พร้อมเจ้าหน้าที่รับรองสำเนาถูกต้องเป็นลายเซ็นสด
• สำเนาหนังสือสั่งจ่ายบำนาญ พร้อมเจ้าหน้าที่รับรองสำเนาถูกต้องเป็นลายเซ็นสด
• สำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก พร้อมสมาชิกรับรองสำเนาถูกต้องเป็นลายเซ็นสด
สำหรับสมาชิกที่สังกัดส่วนท้องถิ่น จะต้องใช้เอกสารเพิ่มเติมดังนี้
• สำเนาคำสั่งโอนไปท้องถิ่น พร้อมเจ้าหน้าที่รับรองสำเนาถูกต้อง
• สำเนาคำสั่งการสั่งจ่ายบำนาญ (ซึ่งเป็นคำสั่งที่ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นคนลงนาม และเป็นหนังสือตราครุฑ)
• แบบคำนวณ บท. 4 (คือรายละเอียดการคำนวณบำนาญสูตร กบข.) เจ้าหน้าที่รับรองสำเนาถูกต้อง
• สมุดประวัติ / ก.พ.7 ฉบับจริง (กรณีรับบำนาญ)
2. กรณีรับบำเหน็จ
• แบบ กบข. รง 008/1/2555 (https://bit.ly/2G7moGh)
• สำเนาคำสั่งออก พร้อมเจ้าหน้าที่รับรองสำเนาถูกต้องเป็นลายเซ็นสด
• สำเนาสมุดบัญชีเงินฝาก พร้อมสมาชิกรับรองสำเนาถูกต้องเป็นลายเซ็นสด
เมื่อหน่วยงานต้นสังกัดตรวจสอบความถูกต้องของเอกสารแล้ว และจัดส่งมายัง กบข. ตามที่อยู่ ส่วนงานการจ่ายเงินคืนสมาชิกพ้นสภาพ ตู้ ปณ. 12 ปณ.สาทร กรุงเทพฯ 10341
???? สมาชิกสามารถเลือกที่จะรับเงินคืนจาก กบข. ทั้งจำนวน หรือจะเลือกฝากให้ กบข. บริหารเงินต่อให้โดยเลือกใช้ “บริการออมต่อ” กับ กบข. หากสมาชิกยังไม่มีแผนรีบใช้เงินก้อนหลังเกษียณทันที และอยากมีเงินอีกส่วนหนึ่งที่ยังสามารถงอกเงยต่อได้ด้วยการลงทุน หรือเพื่อรอจังหวะเวลาให้ได้มูลค่า NAV ที่พอใจ โดยมีรูปแบบของบริการออมต่อมีให้เลือก 4 รูปแบบ ดังนี้
บริการ “ออมต่อ” มี 4 รูปแบบ รูปแบบไหน เหมาะกับใคร
???? แบบที่ 1 ออมต่อทั้งจำนวน คือเลือกฝากเงินไว้ทั้งก้อนให้ กบข. นําไปลงทุนสร้างดอกผลให้ต่อ
เหมาะสำหรับผู้ที่ยังไม่มีแผนใช้เงินออมที่ได้รับเมื่อออกจากราชการและไม่อยากนำเงินไปลงทุนเอง ต้องการให้มีผู้เชี่ยวชาญช่วยจัดการลงทุนให้
???? แบบที่ 2 ทยอยรับเงินเป็นงวด ๆ คือเลือกออมต่อโดยให้ กบข. ทยอยจ่ายเงินคืนให้เป็นงวดๆ เช่นรับทุกเดือนทุก 3 เดือน 6 เดือน หรือ ปีละครั้ง โดยช่วงที่ทยอยรับเงินคืนเป็นงวดนี้เงินส่วนที่ยังอยู่ในกองทุนก็ยังได้รับผลตอบแทนการลงทุนตลอดด้วย
เหมาะสำหรับผู้ที่มีความต้องการใช้เงินอย่างต่อเนื่อง หรือเป็นรายงวดคล้ายบำนาญ ขณะเดียวกันก็ยังได้ผลประโยชน์ที่งอกเงยจากเงินออมในส่วนที่ กบข. ยังคงบริหารให้อยู่
???? แบบที่ 3 ขอรับเงินบางส่วน ที่เหลือให้ กบข.บริหารต่อ คือแบ่งบางส่วนรับคืนไปก่อน 1 ก่อน ส่วนที่เหลือฝากให้ กบข. ลงทุนให้ต่อและขอรับคืนเป็นก้อนภายหลัง
เหมาะสำหรับผู้ที่มีแผนการใช้เงินเพียงจํานวนหนึ่งส่วนที่เหลือยังคงประสงค์ให้ กบข. บริหารจัดการต่อไป
???? แบบที่ 4 ขอรับเงินบางส่วน ที่เหลือทยอยรับเงินเป็นงวดๆ
คือ มีลักษณะเหมือนแบบที่ 2 และ 3 ผสมกัน คือ รับคืนบางส่วนไปก้อนก่อนนึง ส่วนที่เหลือฝากให้ กบข. ลงทุนต่อให้โดยให้ กบข. ทยอยจ่ายคืนเป็นงวด
เหมาะสำหรับผู้ที่มีแผนการใช้เงินก้อนเพียงจํานวนหนึ่ง ส่วนที่เหลือทยอยใช้ ขณะเดียวกันก็ยังได้ผลประโยชน์ที่งอกเงยจากเงินออมในส่วนที่ กบข. ยังคงบริหารจัดการให้อยู่
ประโยชน์ของการออมต่อ เป็นการสร้างผลตอบแทนจากการลงทุน และผลประโยชน์ที่ได้รับสมาชิกจะได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
???? อย่างไรก็ตาม สำหรับสมาชิกที่มีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์การลงทุน สามารถขอรับคำปรึกษาเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจขอรับเงินคืน หรือใช้บริการ “ออมต่อ” กับ กบข. เพื่อเลือกรูปแบบการลงทุน และแผนการลงทุน กับศูนย์ให้คำปรึกษาทางการเงิน โดยใช้บริการได้ง่าย ๆ ผ่าน My GPF Application เพียงเข้าไปที่หน้ารวมเมนู แล้วกดเลือกเมนู “นัดหมายปรึกษา” จากนั้นเลือกหัวข้อที่ต้องการปรึกษาพร้อมระบุช่วงเวลาที่สะดวกให้เจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญติดต่อกลับ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ
ขอบคุณข้อมูลจากคอลัมน์ GPF EXPERIENCE วารสาร กบข.
สามารถอ่านฉบับเต็มได้ที่
https://bit.ly/3M4MC8U