ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบให้ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ปรับปรุงการกำหนดราคาซื้อ - ขาย / ค่าก่อสร้าง และปรับวงเงินกู้ "โครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2 " สูงสุดต่อรายต่อหลักประกัน เพิ่มจากเดิมไม่เกิน 1,200,000 บาท เป็นไม่เกิน 1,500,000 บาท เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการหาซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น สอดคล้องกับความสามารถในการผ่อนชำระ ภายใต้กรอบวงเงินโครงการ 20,000 ล้านบาท คงอัตราดอกเบี้ยคงที่ 4 ปีแรกเพียง 1.99% ต่อปี เงินงวดคงที่นานถึง 84 งวดแรก
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่มีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธานการประชุมในวันนี้ (7 มิถุนายน 2565) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอให้ ธอส. ปรับปรุงการกำหนดราคาซื้อ - ขาย / ค่าก่อสร้าง และปรับวงเงินกู้ "โครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2 " สูงสุดต่อรายต่อหลักประกัน เพิ่มจากเดิมไม่เกิน 1,200,000 บาท เป็นไม่เกิน 1,500,000 บาท เพื่อให้ประชาชนมีทางเลือกในการหาซื้อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้น และสอดคล้องกับความสามารถในการผ่อนชำระเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น หลังจากที่ ครม.ได้มีมติเห็นชอบให้ ธอส. ดำเนินโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2 ภายใต้กรอบวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท โดยเริ่มเปิดให้ประชาชนลงทะเบียนเพื่อรับรหัสสำหรับเข้าร่วมโครงการผ่าน Mobile Application : GHB ALL ตั้งแต่วันที่ 10 กันยายน 2564 ล่าสุด ณ วันที่ 6 มิถุนายน 2565 มีลูกค้าลงทะเบียนแล้วกว่า 94,000 ราย ในจำนวนนี้มีลูกค้าที่มีความพร้อมและยื่นเอกสารหลักฐานเพื่อเข้าสู่กระบวนการพิจารณาสินเชื่อแล้วจำนวน 17,000 ราย วงเงินรวม 15,000 ล้านบาท และ ธอส. ได้อนุมัติสินเชื่อแล้วจำนวน 16,000 ราย วงเงินสินเชื่อรวม 13,500 ล้านบาท โดยหลังจากนี้ธนาคารจะประสานกับสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เพื่อพิจารณาปรับปรุงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขอรับการส่งเสริมการลงทุนให้วงเงินสอดคล้องกันต่อไป
นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการธนาคารอาคารสงเคราะห์ เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2565 ได้มีมติเห็นชอบให้ธนาคารปรับเพดานสัดส่วนสินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV) สำหรับลูกค้าที่ซื้อที่อยู่อาศัยจากผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในสัญญากู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัยหลังที่ 1 ที่มีราคาต่ำกว่า 10 ล้านบาท ให้อยู่ที่ 100% ของมูลค่าหลักประกัน พร้อมให้เงินกู้เพิ่มเพื่อซื้ออุปกรณ์และสิ่งอำนวยความสะดวกเพื่อประโยชน์ในการอยูอาศัยอีก 10% (รวมวงเงินให้กู้สูงสุด 110% ของมูลค่าหลักประกัน) เพื่อช่วยให้ประชาชนที่ต้องการมีบ้านและมีความต้องการวงเงินกู้เพิ่มในระดับที่สอดคล้องกับรายได้เพื่อนำไปใช้จ่ายในด้านการซื้ออุปกรณ์หรือสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นและเกี่ยวเนื่องกับที่อยู่อาศัย โดยขณะนี้ธนาคารอยู่ระหว่างการกำหนดหลักเกณฑ์ของกลุ่มลูกค้าที่จะสามารถได้รับวงเงินกู้สูงสุด 110% ของมูลค่าหลักประกัน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มเปิดให้ประชาชนยื่นกู้ตามเพดาน LTV ใหม่อย่างเป็นทางการได้ภายในเดือนมิถุนายน 2565
ตามที่ธนาคารจัดทำ “มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน” เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 ให้ได้รับความช่วยเหลือต่อเนื่องจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2565 โดย ณ วันที่ 6 มิถุนายน 2565 มีลูกค้าที่อยู่ระหว่างรับความช่วยเหลือตามมาตรการจำนวนกว่า 85,400 บัญชี เงินต้นคงเหลือ 89,300 ล้านบาท และแม้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อ COVID-19 ในปัจจุบันจะลดความรุนแรงลง แต่ยังคงมีผลกระทบต่อรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าบางกลุ่ม ธนาคารจึงได้จัดทำ “มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน เฟส 2” เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่อยู่ในมาตรการที่ 18 และ 19 และยังได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 โดยขยายระยะเวลาความช่วยเหลือต่อเนื่องตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2565 ถึง 31 ธันวาคม 2565 ซึ่งมีรายละเอียดของมาตรการ ดังนี้