นายสุภัทร จำปาทอง ปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูทั้งระบบให้เกิดประสิทธิภาพว่า มีเรื่องสำคัญที่ ศธ. จำเป็นต้องขับเคลื่อนให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมโดยเร็ว 7 เรื่อง ได้แก่ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ ให้สมกับเป็นสินเชื่อสวัสดิการ ตัดเงินเดือนของข้าราชการ / การทำให้ครูมีเงินเหลือใช้หลังจากชำระหนี้ ไม่น้อยกว่า 30% หรือไม่น้อยกว่าเดือนละ 9,000 บาท / การคุมยอดหนี้ที่ครูจะสามารถกู้ได้ ไม่ให้เกินศักยภาพที่จะชำระคืนได้ด้วยเงินเดือน / การปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อให้เจ้าหนี้ทุกรายสามารถแบ่งเงินเดือน 70% ได้อย่างเพียงพอ / การประกาศกำหนดกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการตัดเงินเดือน / การแก้ปัญหากรณีครูผู้กู้และผู้ค้ำประกันถูกฟ้องร้องดำเนินคดี และการช่วยครูแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบ
ปัจจุบัน ศธ.จัดตั้งสถานีแก้หนี้ครูทั่วประเทศแล้ว 558 สถานี คือ ระดับจังหวัด 77 แห่ง ระดับเขตพื้นที่การศึกษา 245 แห่ง และระดับส่วนกลาง เช่น สป./กศน./ก.ค.ศ./สอศ. 236 แห่ง เพื่อให้สามารถรองรับครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ลงทะเบียนขอรับการช่วยเหลือแก้หนี้ 41,128 คน ได้อย่างครอบคลุม ขณะนี้สถานีแก้หนี้ทุกแห่งกำลังวิเคราะห์ข้อมูล และติดต่อขอข้อมูลจากผู้ลงทะเบียน เพื่อรวบรวม วิเคราะห์ จัดทำข้อมูลการลงทะเบียนแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ
ปลัด ศธ. ย้ำด้วยว่า ขอให้เชื่อมั่นแนวทางดำเนินงานแก้หนี้สินครูทั้งระบบเกิดขึ้น ได้จริง เพื่อให้หนี้สินของครูทั่วประเทศที่ยังปฏิบัติหน้าที่อยู่ 4 แสนคน และที่เกษียณอายุราชการแล้วอีก 5 แสนคน รวม 9 แสนคน รวมยอดหนี้สวัสดิการหักเงินเดือน ข้าราชการ 1.4 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์ครู 108 แห่ง ยอดหนี้ 9 แสนล้าน และสถาบัน การเงิน 3 แห่ง ธนาคารออมสิน/อาคารสงเคราะห์/กรุงไทย ยอดหนี้ 5 แสนล้านบาท ได้รับการแก้ไขตาม แนวทางดังกล่าว โดยมีหนี้เสียหรือเป็น NPLs ไม่เกิน 1-2% เท่านั้น