วันที่ 13 ก.ค. 2565 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า จากที่ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เรื่อง การยกเลิกกรณีที่มีเหตุสมควรเกี่ยวกับโรคโควิด-19 เพื่อรองรับการเป็นโรคประจำถิ่น พ.ศ. 2565 ซึ่งมีผลเป็นการปรับปรุงรูปแบบการรักษาโควิด19 โดยยกเลิกการรักษาแบบกักตัวที่บ้าน (Home Isolation-HI) และฮอสพิเทล โดยยกเลิกสำหรับผู้มีสิทธิบัตรทองตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 และกลุ่มผู้มีสิทธิประกันสังคมตั้งแต่วันที่ 4 ก.ค. 2565 เป็นต้นมานั้น
อย่างไรก็ตาม หลังการยกเลิกดังกล่าวผู้ป่วยโควิด19 ประชาชนทุกคนยังคงได้รับการรักษาฟรีตามสิทธิทั้งสิทธิบัตรทอง สิทธิประกันสังคม และสิทธิข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ ขณะที่ผู้ป่วยอาการสีแดงที่วิกฤต ยังสามารถใช้สิทธิ UCEP เข้ารักษาแห่งใดก็ได้เช่นเดิม
ทั้งนี้ ภายหลังการปรับขั้นตอนการรักษาผู้ป่วยโควิดตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2565 เป็นต้นมาประชาชนที่ตรวจพบว่าเป็นโควิด19 เช่นตรวจ ATK ขึ้น 2 ขีด ไม่ต้องโทรแจ้ง 1330 เพื่อเข้าระบบหรือรับยาเช่นในอดีต แต่สามารถโทรสอบถามขั้นตอนดำเนินการ หรือ กรณีมีผู้ป่วยหนักประสานหาเตียงเพื่อเข้าโรงพยาบาลสามารถโทร สายด่วน สปสช. 1330 กด 14 สำหรับประชาชนทั่วไป และ กด 18 สำหรับกลุ่ม 608, ผู้ป่วยติดเตียง และผู้พิการ หรือที่ สายด่วน เอราวัณ 1669 กด 2 ได้
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับผู้มีสิทธิบัตรทองสามารถติดต่อที่เพื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาที่ศูนย์บริการสาธารณสุข, คลินิกชุมชนอบอุ่น, หน่วยบริการปฐมภูมิของโรงพยาบาล ตามนโยบาย 30 บาท รักษาทุกที่, สถานพยาบาลที่ลงทะเบียนไว้ หรือ ร้านยาในโครงการ "เจอ แจก จบ" โดยสามรถตรวจดูรายชื่อร้านขายยาที่เข้าร่วมโครงการเจอ แจก จบ ได้ที่ https://www.nhso.go.th/downloads/197
ส่วนผู้มีสิทธิประกันสังคม ผู้ประกันตนที่มีอาการป่วยไม่รุนแรงรักษาแบบเจอ แจก จบ ณ สถานพยาบาลประกันสังคมและ สถานพยาบาลที่ร่วมให้บริการของรัฐและเอกชนทุกแห่ง คลินิกและร้านยา ที่ขึ้นทะเบียนกับสำนักงานประกันสังคม(สปส.) ทั่วประเทศ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ส่วนกรณีมีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาเป็นผู้ป่วยในตามดุลพินิจของแพทย์ ก็เข้ารักษาในโรงพยาบาลประกันสังคมและสถานพยาบาลที่ร่วมให้บริการทั้งรัฐและเอกชนทุกแห่งโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเช่นเดียวกัน หากมีข้อสงสัยสอบถามสายด่วนประกันสังคม 1506 ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจสามารถเข้ารับการรักษากับสถานพยาบาลของรัฐทุกแห่ง หรือกรณีหน่วยงานใดมีสิทธิรักษาในโรงพยาบาลเอกชนได้ก็รักษาตามสิทธิที่องค์กรกำหนด
“ด้วยสถานการณ์ความรุนแรงของโรคที่ลดลงขณะที่การระบาดอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ รัฐบาลจึงปรับให้การดูแลรักษาให้กลับเข้าไปสู่สิทธิเดิม โดยประชาชนทุกคนยังได้รับการรักษาฟรีภายใต้การใช้จ่ายงบประมาณจากกองทุนต่างๆ ที่ดูแลสิทธิของประชาชนแต่ละกลุ่มอยู่ โดยย้ำว่ารัฐบาลให้ความสำคัญสูงสุดกับการดูแลสุขภาพและชีวิตประชาชน และขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขก็ได้จัดเตรียมยา เวชภัณฑ์ เตียงผู้ป่วยไว้รองรับอย่างเพียงพอ” น.ส.ไตรศุลี กล่าว