ปัญหาอย่างหนึ่งที่มักพบในการเขียนหรือพิมพ์หนังสือไทย คือ เรื่องการเว้นวรรคระหว่างคำนำหน้าชื่อกับชื่อ คำนำหน้าชื่อที่ใช้กันเป็นสามัญ เช่น นาย นาง นางสาว บางครั้งก็ยังมีผู้ไม่แน่ใจว่าจะต้องเขียนติดกับชื่อหรือไม่ คำตอบตามหลักเกณฑ์การเว้นวรรคของราชบัณฑิตยสถาน คือ ไม่เว้นวรรคระหว่างคำนำหน้าชื่อกับชื่อ เช่น พระมหาสุทธิ สุทฺธิาโน นายเสริม วินิจฉัยกุล นางอินทิรา คานธี นางสาววารุณี วงศ์คนไทย นอกจากนั้น ยังไม่เว้นวรรคระหว่างบรรดาศักดิ์ สมณศักดิ์ ฐานันดรศักดิ์ กับนามหรือราชทินนาม เช่น หลวงวิศาลศิลปกรรม หม่อมราโชทัย สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ หม่อมเจ้าโวฒยากร วรวรรณ เจ้าจอมมารดาชุ่ม (ในรัชกาลที่ ๔) และอีกข้อหนึ่งคือ ไม่เว้นวรรคระหว่างคำนำหน้าชื่อที่เป็นตำแหน่งหรืออาชีพกับชื่อ เช่น ศาสตราจารย์รอง ศยามานนท์ นายแพทย์ดำรง เพ็ชรพลอย
มีผู้สงสัยว่า คำนำหน้าชื่อชาวต่างชาติซึ่งเว้นวรรคก่อนชื่อเสมอนั้น เมื่อถอดทับศัพท์เป็นภาษาไทย จะต้องเว้นวรรคตามภาษาเดิมหรือไม่ คำตอบก็คือ คำนำหน้าชื่อหรือตำแหน่งให้ทับศัพท์โดยเขียนคำนำหน้าชื่อติดกับชื่อตามอักขรวิธีไทย ตัวอย่างเช่น Tsar Nicholas II = ซาร์นิโคลัสที่ ๒ Tsarina Catherine II the Great = ซารีนาแคเทอรีนที่ ๒ มหาราช Sir Paul McCartney = เซอร์พอล แม็กคาร์ตนีย์ Lord Byron = ลอร์ดไบรอน Count Tolstoy = เคานต์ตอลสตอย Sultan Mahmud Shah = สุลต่านมะห์มูด ชาห์ U Than = อูถั่น Tunku Abdul Rahman = ตนกูอับดุล เราะห์มาน
อนึ่ง คำนำหน้าชื่อชาวต่างชาติบางคำที่ใช้คำไทยแทนได้และสื่อความหมายได้ชัดเจนก็ไม่จำเป็นต้องใช้ทับศัพท์ เช่น Mr. Deng Xiaoping = นายเติ้ง เสี่ยวผิง Mrs. Hillary Clinton = นางฮิลลารี คลินตัน Miss. Anne Murray = นางสาวแอนน์ เมอร์เรย์ Emperor Akihito = จักรพรรดิอากิฮิโตะ Empress Michiko = จักรพรรดินีมิชิโกะ Pope Gregory XI = สันตะปาปาเกรเกอรีที่ 11