ผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 ปล่อยสินเชื่อใหม่ทำให้คนไทยได้มีบ้านจำนวนถึง 134,998 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 27.08% จากช่วงเดียวกันของปี 2564 ดันยอดสินเชื่อคงค้างรวม 1,526,414 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 1,581,652 ล้านบาท
ธนาคารอาคารสงเคราะห์ เผยผลการดำเนินงานในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2565 ปล่อยสินเชื่อใหม่ทำให้คนไทยได้มีบ้านจำนวนถึง 134,998 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 27.08% จากช่วงเดียวกันของปี 2564 ดันยอดสินเชื่อคงค้างรวม 1,526,414 ล้านบาท สินทรัพย์รวม 1,581,652 ล้านบาท มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) 4.41% ของยอดสินเชื่อรวม ตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพื่อความมั่นคงและเตรียมพร้อมรับผลกระทบจาก COVID-19 จำนวน 121,066 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ NPL ที่ระดับ 180.02% คาดสิ้นปีสินเชื่อใหม่ปล่อยได้ไม่น้อยกว่า 2.8 แสนล้านบาท มุ่งสู่ Digital Bank เต็มรูปแบบ ชูเทคโนโลยี-นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ และบริการทางด้านสินเชื่อ เงินฝาก และสลากออมทรัพย์ ขึ้นบนอากาศ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ลูกค้าประชาชนเข้าถึงบริการของธนาคาร พร้อมประกาศตรึงอัตราดอกเบี้ยให้นานที่สุด เพื่อให้ลูกค้ามีเวลาปรับตัวรับกับอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้นในอนาคต
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) เปิดเผยถึงผลการดำเนินงาน ณ ไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 ว่า หลังจากที่ภาครัฐได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ รายได้ของประชาชนปรับตัวเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น ซึ่งมีส่วนสำคัญให้ประชาชนที่มีการปรับตัวจากผลกระทบด้านรายได้ตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยก่อนที่อัตราดอกเบี้ยจะปรับเพิ่มขึ้นในอนาคต ทำให้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 ธนาคารสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้จำนวน 134,998 ล้านบาท 106,067 บัญชี เพิ่มขึ้น 27.08% จากช่วงเดียวกันของปี 2564 คิดเป็น 59.62% ของเป้าหมายปล่อยสินเชื่อใหม่ปี 2565 ที่ 226,423 ล้านบาท แบ่งเป็นสินเชื่อที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 2.5 ล้านบาท สำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อยและปานกลางจำนวน 58,448 ราย ส่งผลให้ ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ของปี 2565 เทียบกับ ณ สิ้นปี 2564 ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 1,526,414 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.65% มีสินทรัพย์รวม 1,581,652 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.00% เงินฝากรวม 1,345,830 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.57% หนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 67,251 ล้านบาท คิดเป็น 4.41% ของยอดสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2564 ที่มี NPL อยู่ที่ 4.00% ของสินเชื่อรวม ซึ่งธนาคารได้มีการตั้งสำรองเผื่อหนี้สงสัยจะสูญที่ 121,066 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนต่อ NPL สูงถึง 180.02% สะท้อนความมั่นคงและพร้อมรองรับผลกระทบจาก COVID-19 ในอนาคต โดยมีกำไรสุทธิ 6,069 ล้านบาท และมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ยังอยู่ที่ระดับแข็งแกร่งที่ 14.73% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนด
ทั้งนี้ การที่ธนาคารยังคงปล่อยสินเชื่อใหม่ได้อย่างต่อเนื่อง เป็นเพราะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายรัฐบาลจากการผ่อนคลายมาตรการสินเชื่อที่อยู่อาศัย (LTV) ของธนาคารแห่งประเทศไทย การลดค่าธรรมเนียมการโอนและจดจำนองเหลือประเภทละ 0.01% สำหรับการซื้อที่อยู่อาศัยใหม่ราคาไม่เกิน 3 ล้านบาท ราคาอสังหาริมทรัพย์ที่ปรับตัวลดลงจากการแข่งขันของผู้ประกอบอสังหาริมทรัพย์ทำให้มีการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับผลิตภัณฑ์สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำของธนาคาร ทำให้กลุ่มลูกค้าที่มีการปรับตัวจากผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 ตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัยเร็วขึ้น โดยสินเชื่อปล่อยใหม่ที่มีลูกค้าเลือกใช้บริการสูงสุดได้แก่ โครงการบ้าน ธอส. เพื่อคุณ อัตราดอกเบี้ยปีแรกเพียง 3.15% ต่อปี มียอดอนุมัติสะสมสูงถึง 34,658 ล้านบาท ส่วนโครงการบ้านล้านหลัง ระยะที่ 2 ของรัฐบาล อัตราดอกเบี้ยต่ำคงที่เพียง 1.99% ต่อปี นานถึง 4 ปีแรก ล่าสุด ณ วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 มีผู้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้ว 99,760 ราย ยื่นขอสินเชื่อแล้ว 20,311 ราย วงเงินสินเชื่อ 18,358 ล้านบาท และได้รับอนุมัติสินเชื่อแล้ว 18,707 ราย วงเงินสินเชื่อ 16,322 ล้านบาท
ขณะที่ด้านดูแลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบด้านรายได้จาก COVID-19 ปัจจุบัน ธอส. ยังขยายระยะเวลาความช่วยเหลือ ผ่านมาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน ปี 2565 ด้วยการแบ่งเบาภาระให้กับลูกค้า ทั้งการลดอัตราดอกเบี้ยและเลือกแบ่งจ่ายเงินงวดผ่อนชำระ เพื่อลดเงินงวดให้กับลูกค้า และมุ่งรักษาบ้านให้ยังเป็นของลูกค้าได้ต่อไป โดย ณ วันที่ 12 กรกฎาคม 2565 มีลูกค้าอยู่ระหว่างใช้มาตรการช่วยเหลือรวมทั้งสิ้น 72,496 บัญชี วงเงินต้นคงเหลือ 74,176 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้พบว่ามีลูกค้าที่ชำระเงินงวดได้ตามเงื่อนไขของมาตรการหรือชำระบางส่วนคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 96%
“จากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) มีโอกาสจะปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายในช่วงปลายปี 2565 เช่นเดียวกับธนาคารกลางหลายประเทศที่ปรับขึ้นตามธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ไปแล้ว ทำให้ประชาชนเร่งตัดสินใจซื้อที่อยู่อาศัย ในช่วงที่อัตราดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำ จึงมั่นใจว่า ณ สิ้นปี 2565 ธนาคารจะสามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้สูงกว่า 280,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันในฐานะสถาบันการเงินของรัฐ ธอส. พร้อมตรึงอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารไว้ให้ได้นานที่สุด เพื่อช่วยให้ลูกค้ามีเวลาในการปรับตัวและไม่ต้องรับภาระด้านค่าครองชีพ แต่พร้อมที่จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากตามตลาดเพื่อป้องกันการไหลออกของเงินฝากและให้มีเงินทุนเพียงพอต่อการปล่อยสินเชื่อให้กับประชาชนที่ต้องการมีบ้าน และด้วยต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น ทำให้คาดว่าธนาคารจะได้รับผลกระทบในปี 2565 ไม่น้อยกว่า 2 พันล้านบาท”นายฉัตรชัยกล่าว
นอกจากนี้ ในช่วงครึ่งปีหลัง ธอส. เตรียมนำเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ ๆ มายกระดับการให้บริการลูกค้าตามเป้าหมายสู่การเป็น Digital Bank เต็มรูปแบบ (Fully Digitized) อาทิ การจัดตั้งศูนย์บริการดิจิทัล (DSC) เพื่อรองรับลูกค้าที่ต้องการเข้าถึงบริการทางด้านสินเชื่อและเงินฝากผ่านช่องทาง Digital Channel เป็นการเฉพาะ อาทิ Mobile Application GHB ALL รวมถึงสื่อ Social Media ต่าง ๆ ของธนาคาร โดยมีพนักงานสินเชื่อ Virtual Branch ทำหน้าที่ติดต่อลูกค้าเพื่อรองรับการให้บริการได้ทันทีโดยไม่ต้องมีสาขา โครงการจัดเก็บ Electronic File แทนเอกสารสิทธิ์ต้นฉบับ (ไม่เก็บโฉนด) โดยธนาคารจะจัดเก็บในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์แทนการจัดเก็บโฉนดตัวจริง ทำให้ลูกค้าจะได้รับโฉนดฉบับจริงกลับบ้านในวันทำนิติกรรมได้ทันที ซึ่งปัจจุบันเริ่มให้บริการกับลูกค้ากลุ่มสวัสดิการแล้วและจะขยายสู่ลูกค้ากลุ่มกู้ใหม่ได้ทั้งหมดภายในไตรมาสที่ 3 โครงการลงนามสัญญาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Contract) การทำสัญญาเงินกู้ระหว่างธนาคารกับลูกค้าในรูปแบบอีเล็กทรอนิกส์ โดยเริ่มให้บริการลูกค้าแล้วตั้งแต่วันที่ 14 มิถุนายน 2565 โดยหลังลงนามสัญญาลูกค้าจะได้รับเอกสารสัญญาเงินกู้รูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ผ่าน Email
นอกจากนี้ ธนาคารยังอำนวยความสะดวกให้กับผู้ขายที่อยู่อาศัยหรือผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่ขายที่อยู่อาศัยให้กับลูกค้า ธอส. จะได้รับการโอนเงินกู้ค่าซื้อที่อยู่อาศัยเข้าบัญชีเงินฝากของผู้ขาย/ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์แทนการจัดทำแคชเชียร์เช็ค ทำให้ผู้ขายไม่ต้องเสียเวลาและขั้นตอนนำแคชเชียร์เช็คที่ได้รับจากผู้ซื้อไปขึ้นเงินเหมือนที่ผ่านมา ทั้งนี้ บริการใหม่ดังกล่าวจะเริ่มให้บริการอย่างเป็นทางการได้ภายในปี 2565 และพร้อมเดินหน้าจัดทำโครงการ GHB AI Virtual Agent เพื่อเสริมทัพความแข็งแกร่งและยกระดับการบริหารจัดการ Call Center ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยนำเทคโนโลยี AI Voice Bot มาช่วยให้บริการเปรียบเสมือนผู้ช่วยบริการทางการเงินให้ลูกค้า ธอส. ซึ่ง AI จะช่วยรับสายตอบคำถามลูกค้าที่ติดต่อเข้ามาได้ทันทีโดยไม่ต้องรอสายนาน หรือโทรแจ้งเตือนบริการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์กับลูกค้า เช่น ครบกำหนดมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 หรือโทรแจ้งการเปลี่ยนแปลงเงินงวดสินเชื่อบ้าน เป็นต้น