กระทรวงแรงงาน เปิดให้นายจ้าง/สถานประกอบการดำเนินการยื่นบัญชีรายชื่อแจ้งความต้องการจ้างแรงงาน 4 สัญชาติ (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ตามมติ ครม.วันที่ 5 ก.ค. 65 ผ่านระบบออนไลน์
ตั้งแต่ 1 – 15 ส.ค. 65 เพื่อสามารถอยู่และทำงานได้ถึง 13 ก.พ. 68
นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งกำกับดูแลกระทรวงแรงงาน ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม เพื่อรองรับการฟื้นฟูประเทศภายหลังการผ่อนคลายมาตรการป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงแรงงานจึงเสนอต่อครม.และมีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่ 5 ก.ค. 65 ให้กลุ่มคนต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนามที่มี “สถานะไม่ถูกต้อง” ที่ประสงค์จะทำงานและมีนายจ้าง สามารถอยู่และทำงานเป็นการชั่วคราวได้ไม่เกินวันที่ 13 ก.พ. 66 และเมื่อได้รับอนุญาตทำงานและตรวจลงตราถึงวันที่ 13 ก.พ. 66 แล้ว หากประสงค์จะทำงานต่อไป สามารถอยู่และทำงานเป็นการชั่วคราวได้ไม่เกินวันที่ 13 ก.พ. 68 โดยขออนุญาตให้อยู่และทำงาน 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 1 ปี ครั้งแรกไม่เกิน 13 ก.พ. 67 และครั้งที่ 2 ไม่เกิน 13 ก.พ. 68 โดยที่แรงงานกลุ่มดังกล่าวจะต้องทำงานอยู่กับนายจ้างก่อนวันที่ครม.มีมติเห็นชอบ โดยเริ่มดำเนินการลงทะเบียนและยื่นบัญชีรายชื่อได้ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. 65 ผ่านระบบอนุญาตทำงานคนต่างด้าวทางอิเล็กทรอนิกส์ ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th
ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า สำหรับนายจ้างที่ต้องการจ้างแรงงานสัญชาติ กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ที่มีสถานะไม่ถูกต้อง ให้ดำเนินการดังนี้
1. นายจ้าง/สถานประกอบการ หรือบริษัทนำคนต่างด้าวมาทำงานในประเทศ ลงทะเบียนผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th เพื่อขอรับชื่อผู้ใช้งานและรหัสผ่าน
2. ยื่นบัญชีรายชื่อแจ้งความต้องการจ้างแรงงานต่างด้าว (Name list) ต่อกรมการจัดหางาน พร้อมด้วยรูปถ่ายปัจจุบันของคนต่างด้าวซึ่งเห็นภาพใบหน้าชัดเจน ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ ที่เว็บไซต์ e-workpermit.doe.go.th และชำระค่าธรรมเนียมผ่านธนาคารกรุงไทย โดยมีค่ายื่นคำขอฉบับละ 100 บาท และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตทำงานฉบับละ 900 บาท หลังจากนั้นธนาคารกรุงไทยจะออกใบเสร็จรับเงินให้แก่นายจ้าง ระยะเวลาดำเนินการ 15 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 - 15 สิงหาคม 65
3. นายจ้างยื่นคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าว ตามแบบ บต.50 พร้อมแนบเอกสารประกอบการยื่นคำขออนุญาตทำงานตามแบบ อ.4 ระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม 65 - 15 ตุลาคม 65 (ระยะเวลา 60 วัน) โดยนายทะเบียนจะออกใบรับคำขออนุญาตทำงาน เพื่อให้คนต่างด้าวใช้ใบรับคำขออนุญาตทำงานและใบเสร็จรับเงินคู่กัน เป็นหลักฐานแสดงว่าได้รับการผ่อนผันให้ทำงานได้ จนกว่าจะได้รับใบอนุญาตทำงานตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว
4. คนต่างด้าวใช้ใบรับคำขออนุญาตทำงานแทนคนต่างด้าวพร้อมกับใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียม แสดงต่อเจ้าหน้าที่ เพื่อขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกันตนกับสำนักงานประกันสังคม
กรณีคนต่างด้าวที่ทำงานกับนายจ้างในกิจการที่ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม ในระหว่างที่ยังไม่เกิดสิทธิประกันสังคมต้องซื้อประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุข หรือซื้อประกันสุขภาพกับบริษัทประกันภัยเอกชน ซึ่งต้องได้รับสิทธิประโยชน์ไม่น้อยกว่าสิทธิประโยชน์ที่ได้รับจากการทำประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุข
กรณีคนต่างด้าวทำงานกับนายจ้างในกิจการซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องขึ้นทะเบียนประกันสังคม จะต้องซื้อประกันสุขภาพกับกระทรวงสาธารณสุข และนำหลักฐานการทำประกันสุขภาพของคนต่างด้าวมายื่นต่อนายทะเบียน เพื่อรับการพิจารณาอนุญาตให้ทำงาน ไม่เกินวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 66
5. นายจ้างนำคนต่างด้าวไปดำเนินการจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล ตรวจสุขภาพ 6 โรค จัดทำหรือปรับปรุงทะเบียนประวัติ ระหว่างวันที่ 16 สิงหาคม 65 - 13 กุมภาพันธ์ 66
ทั้งนี้ คนต่างด้าวซึ่งได้รับอนุญาตทำงานถึงวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 66 แล้ว หากประสงค์จะทำงานต่อไป ต้องยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงานก่อนที่ใบอนุญาตทำงานจะสิ้นอายุ และยื่นขอตรวจลงตรา VISA ภายใน 13 กุมภาพันธ์ 66 โดยนายทะเบียน จะอนุญาตให้ทำงานคราวละ 1 ปี รวม 2 ครั้ง ครั้งแรกไม่เกิน 13 ก.พ. 67 ครั้งที่ 2 ไม่เกิน 13 ก.พ. 68
สำหรับนายจ้าง/สถานประกอบการที่ต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมติดต่อได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1 – 10 หรือที่ไลน์ @Service_Workpermit หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน ซึ่งมีการจัดล่ามในภาษากัมพูชา เมียนมา และอังกฤษ ให้บริการข้อมูลข่าวสาร และแนะนำวิธีการดำเนินการ