จากข้อมูลเท็จที่มีการส่งต่อในสื่อสังคมออนไลน์ เรื่องปรับหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุให้กลุ่มผู้ได้รับบำนาญ เบี้ยหวัด บำนาญพิเศษหรือเงินอื่นใดในลักษณะเดียวกันจากรัฐ ให้สามารถรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุได้อีกทางหนึ่งด้วยนั้น
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ชี้แจงว่า “ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริง” ปัจจุบันยังยึดหลักเกณฑ์ตามระเบียบคณะกรรมการผู้สูงอายุ (กผส.) และระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2552 และที่เพิ่มเติม พ.ศ. 2561 ที่กำหนด “ไม่ให้มีการจ่ายเบี้ยยังชีพซ้ำซ้อนกับประโยชน์อื่น”
สำหรับกรณีผู้สูงอายุที่รับบำนาญหรือเงินอื่นในลักษณะเดียวกัน เช่น รับบำนาญต่อจากบุตรที่เสียชีวิตแล้ว พร้อมกับรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุด้วย จนกระทั่ง อปท. ได้ดำเนินการฟ้องร้องเรียกเบี้ยยังชีพคืน เนื่องจากไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ตามกฎหมายนั้น
รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาดังกล่าว เพื่อเป็นการบรรเทาผลกระทบต่อผู้สูงอายุ ในคราวประชุม ครม. (23 ส.ค. 65) ได้มีมติให้คืนเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุที่รับประโยชน์ซ้ำซ้อน ที่ได้นำเงินมาคืนทางราชการแล้ว จำนวน 28,345 ราย รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 245.24 ล้านบาท และให้ อปท. ดำเนินการถอนฟ้องหรือระงับการบังคับคดีให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 1 เดือน นับแต่วันที่ ครม. มีมติ
นอกจากนี้ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กำลังนำเสนอแนวทางเพื่อกำหนดนโยบายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุต่อคณะกรรมการผู้สูงอายุ (กผส.) ให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เมื่อระเบียบใหม่ของ กผส. เสร็จเรียบร้อยแล้ว กระทรวงมหาดไทยจะนำไปปรับปรุงระเบียบให้สอดคล้องกัน จากนั้นจะประกาศให้ประชาชนทราบต่อไป
ดังนั้น ในระหว่างที่ระเบียบการจ่ายเบี้ยยังชีพยังอยู่ระหว่างการปรับปรุง การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ณ ปัจจุบัน ยังคงยึดหลักเกณฑ์เดิม
อ่านเพิ่มเติม คลิก
https://www.thaigov.go.th/news/contents/details/58726