วันที่ 28 กันยายน 2565 น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ ครม. มีมติอนุมัติโครงการค่าตอบแทน เยียวยา ชดเชย และเสี่ยงภัย สําหรับการปฏิบัติงานของอาสาสมัครสาธารณสุขประจําหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.) ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในชุมชน จำนวนคนละ 2,000 บาท ระยะเวลาปฏิบัติงานเดือนมิ.ย. – ก.ย. 2565 ว่า ในการเบิกจ่ายเงินค่าตอบแทนเสี่ยงภัยทางระบบ e-social welfare นี้ กรมบัญชีกลางได้กำหนดปฏิทินการเบิกจ่ายรอบเดือน ก.ย. 2565 สำหรับผลการปฏิบัติงานของอสม.เดือน มิ.ย.-ส.ค. 2565 และเบิกจ่ายรอบเดือน ต.ค. 2565 สำหรับผลการปฏิบัติงานของอสม.เดือน ก.ย. 2565
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า รัฐบาลขอขอบคุณการทำงานหนักที่ผ่านมาของ อสม.และ อสส. ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการช่วยควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 เบื้องต้นในระดับชุมชน โดยเฉพาะการดูแลทั้งมาตรการป้องกัน มาตรการคัดกรอง และมาตรการดูแลกลุ่มเสี่ยงที่เจ้าหน้าที่ อสม. และ อสม. เป็นด่านหน้าเคาะประตูดูแลถึงบ้านสำหรับกลุ่ม 608 ผู้ป่วยติดเตียง ผู้สูงวัย และประชาชนกลุ่มที่ไม่มีสมาร์ทโฟนจึงไม่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ ที่สำคัญคือ อสม. และ อสส. เป็นกลไกสำคัญที่ทำให้สามารถควบคุมโควิด-19 จากโรคติดต่ออันตรายมาเป็นโรคติดต่อที่ต้องเฝ้าระวังได้ โดยระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ย. 2565 ระยะเวลา 4 เดือนที่ เจ้าหน้าที่ อสม. อละ อสส. ต้องมีภาระงานที่เสี่ยงภัยเพิ่มมากขึ้นสำหรับการควบคุมโควิด-19
ทิพานัน กล่าวว่า ที่ผ่านมา อสม. ได้ทำหน้าที่เคาะประตูบ้านแจ้งสถานการณ์และการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงที่ยังตกหล่น วัคซีนเข็มกระตุ้นและติดตามอาการ เฝ้าระวัง-คัดกรอง-ติดตามกลุ่มเสี่ยงในชุมชนอย่างต่อเนื่อง ให้ความรู้ในการตรวจ ATK สนับสนุนการทำงานของทีมแพทย์ในการติดตามดูแลผู้ป่วยกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ดูแลให้คำแนะนำเกี่ยวกับสภาวะหลังติดเชื้อโควิด (Long COVID) และบทบาทของ อสม. อสส. และในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคดังกล่าว ยังไม่ยุติยังคงต้องทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ประชาชนมีสุขภาพดี สถานการณ์โควิดควบคุมได้ เพื่อเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะจากภาคการท่องเที่ยวด้วย
“ที่ผ่านมาโดยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้าใจและตระหนักความสำคัญ บทบาทหน้าที่ และความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ที่ อสม. และ อสส. เจ้าหน้าที่ด่านหน้าต้องมีเพิ่มขึ้นมาเพื่อควบคุมสถานการณ์โควิด โดยนอกจากจะอนุมัติค่าตอบแทนเสี่ยงภัยให้ อสม. อสส. ในการเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโควิด -19 ในชุมชนเพิ่มขึ้นคนละ 500 บาทต่อเดือนแล้ว ยังได้พัฒนาระบบสวัสดิการให้แก่ อสม.ทั่วประเทศ เพื่อเสริมสร้างขวัญ กำลังใจ ควบคู่ไปกับการสร้างหลักประกันความมั่นคงให้กับ อสม.และครอบครัว เช่น ได้รับค่ายกเว้นค่าห้องพิเศษ ค่าอาหารพิเศษในโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข และได้มีจัดตั้งสมาคมฌาปนกิจสังเคราะห์อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้านแห่งประเทศไทย (ฌกส.อสม.) ดำเนินการค่าจัดการศพและสงเคราะห์ครอบครัว อสม.ด้วย” น.ส.ทิพานัน กล่าว