นักวิทยาศาสตร์ค้นพบซากฟอสซิลของสิ่งมีชีวิตในจีน ที่เชื่อว่าอยู่ในช่วงต้นของสายวิวัฒนาการของนก ที่คาดว่ามีชีวิตเมื่อกว่า 160 ล้านปีก่อน โดยนักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อให้มันว่า "Aurornis xui" หรือ"นกรุ่งอรุณ
นักวิทยาศาสตร์เปิดเผยในวารสาร"เนเจอร์"ว่า ความสำคัญของการค้นพบครั้งนี้คือ มันไม่เพียงช่วยให้ความเข้าใจว่านกมีวิวัฒนาการจากไดโนเสาร์อย่างไรง่ายขึ้นเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เราเข้าใจว่ามันสามารถบินได้อย่างไรด้วย
ซากดึกดำบรรพ์ของ Aurornis xui ถูกค้นพบในแผ่นหินดินดาน ในแหล่งฟอสซิลอันลือเลื่องของมณฑลเหลียวหนิงของจีน มันมีความยาวตั้งแต่ปลายจงอยปากจนถึงหาง 50 ซม. และมีโครงสร้างกระดูกในแบบดั้งเดิม ที่ทำให้มันอยู่ในช่วงฐานของสิ่งมีชีวิตดึกดำบรรพ์จำพวกนก และสายพันธุ์ที่มีความใกล้ชิด นับตั้งแต่เริ่มมีการแยกสายวิวัฒนาการออกจากสิ่งมีชีวิตในวงศ์ไดโนเสาร์
ปาสกาล โกเดอฟรัวต์ จากสถาบันวิทยาศาสตร์ธรรมชาติเบลเยี่ยม ระบุในรายงานที่แสดงให้เห็นว่า สิ่งมีชีวิตที่คล้ายนกในยุคจูราสสิกและครีเตเชียส ชนิดต่างๆ มีความเกี่ยวโยงกันอย่างไร โดยเปรียบเทียบรายละเอียดของกระดูกของสัตว์ดังกล่าว
ผลการวิเคราะห์วิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตของสัตว์ที่เหมือนนกดังกล่าวทำให้"อาร์คีออพเทอริกซ์"ที่ได้รับฉายาว่า เป็นนกสายพันธุ์แท้ชนิดแรก กลับขึ้นมาอยู่ในกลุ่มสัตว์บินได้ตามเดิม หลังจากเคยถูกลดชั้นลงไปอยู่ในกลุ่มสัตว์เหมือนนกที่บินไม่ได้ อันเป็นผลมาจากการการค้นพบสิ่งมีชีวิตในลักษณะคล้ายกันนี้มีมณฑลเหลียวหนิง ที่ทำให้อาร์คีออพเทอริกซ์ ซึ่งเคยมีชีวิตเมื่อ 150 ล้านปีก่อน ดูมีความเกี่ยวข้องน้อยลง ทั้งๆที่มันบินได้
โกเดอฟรัวต์โต้แย้งว่า ผลการศึกษาวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตก่อนหน้านี้ได้ศึกษาลักษณะเด่นในตัวของอาร์คีออพเทอริกซ์เพียง 200 จุด แต่ทีมวิจัยของตนได้ดูถึงเกือบ 1,500 จุด ทำให้สรุปได้ว่า อาร์คีออพเทอริกซ์เป็นบรรพบุรุษของนก ขณะที่ออโรนิสเป็นนกในยุคแรกๆ
ข้อมูลจาก มติชนออไลน์ วันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2556 เวลา 07:50:28 น.
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1369913276&grpid=01&catid=&subcatid=