น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2565 ว่า ครม. มีมติเห็นชอบทบทวนมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 ในการกำหนดค่าธรรมเนียมในการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาล ระยะเวลา 1 ปี (Medical Treatment Visa) รหัส Non-MT ให้ใช้อัตราใหม่คือรายละ 5,000 บาท ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ โดยปรับค่าธรรมเนียมจากเดิมรายละ 6,000 บาท สำหรับประเภท VISA เพื่อการรักษาพยาบาลได้สอดรับกับระยะเวลาและกระบวนการรักษาพยาบาลในปัจจุบัน ผู้ป่วยชาวต่างชาติสามารถเดินทางเข้าออกในไทยได้หลายครั้ง (Multiple Entry) ครั้งละไม่เกิน 90 วันในระยะเวลา 1 ปี ซึ่งคาดว่าจะเริ่มใช้ระบบวีซาประเภทนี้ในวันที่ 1 มกราคม 2566
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า เพื่อส่งเสริมและพัฒนาให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ ตามนโยบายรัฐบาลด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติ (Medical Hub) (พ.ศ. 2560 - 2569) และให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างรายได้และการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ครม.จึงมีมติวันนี้ให้พิจารณากำหนดค่าธรรมเนียมในการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาล ระยะเวลา 1 ปีสำหรับผู้ป่วยชาวต่างชาติที่ได้มีการนัดหมายล่วงหน้ากับสถานพยาบาลที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดเพื่อเข้ารับการรักษาพยาบาล ในอัตรารายละ 5,000 บาท ให้เป็นไปตามกฎกระทรวง (พ.ศ. 2523) ออกตามความใน พ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยกฎกระทรวง ฉบับที่ 27 (พ.ศ. 2546) ออกตามความในพ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และกฎกระทรวง ฉบับที่ 28 (พ.ศ. 2549) ออกความตามในพ.ร.บ. คนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขดำเนินการตามแนวปฏิบัติที่เกี่ยวข้องและประชาสัมพันธ์ให้ชาวต่างชาติทราบอย่างทั่วถึงต่อไป
“การขอรับการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาล ระยะเวลา 1 ปี เมื่อครบกำหนด 1 ปีแล้ว ไม่สามารถขยายอายุต่อได้ หรือ Medical Treatment Visa รหัส Non-MT ที่จะต้องรายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ทุก 90 วัน ผู้ขอจะต้องมีการยื่นเอกสารการนัดหมายกับสถานพยาบาล (Confirmation Letter) หลักฐานการเงินที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายภายในประเทศเป็นเงินสดไม่น้อยกว่า 800,000 บาท หลักฐานการเงินที่ครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล เอกสารแสดงประกันภัยกรณีอุบัติเหตุและการช่วยเหลือฉุกเฉินรวมความคุ้มครองการรักษาโควิด-19 ในประเทศไทย และการขออยู่ต่อจะต้องแสดงใบรับรองแพทย์ที่ออกโดยโรงพยาบาลรัฐ โรงพยาบาลเอกชน และสถาบันทางการแพทย์ภาครัฐเท่านั้น” น.ส.ทิพานัน กล่าว
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า กลุ่มโรคที่อนุญาตให้เข้ารับการขอรับการตรวจลงตราเพื่อการรักษาพยาบาล เฉพาะผู้ที่มารับบริการในกลุ่มโรคหรือหัตถการที่มีระยะเวลารักษาต่อเนื่องที่ต้องใช้เวลามากกว่า 90 วัน โดยสถานพยาบาลต้องมีแผนการรักษา (Doctor Plan) และค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน อาทิ เวชศาสตร์ชะลอวัยและการฟื้นฟูสุขภาพ การแพทย์ทางเลือก โรคระบบหัวใจหลอดเลือด โรคทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ ทันตกรรม เทคโนโลยีช่วยการเจริญพันทางการแพทย์ โรคมะเร็ง ศัลยกรรมเสริมความงาม จักษุ การเปลี่ยนถ่ายอวัยวะ การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง โรคอื่นๆ ที่มีความจำเป็นต้องเข้ารับการรักษาพยาบาลโดยรับรองเป็นรายกรณี โดยกระทรวงสาธารณสุขจัดทำเอกสารกลุ่มโรคและหัตถการเพื่อการรับรอง