"กรุงเทพโพลล์" เผยคนส่วนใหญ่คอย 3 จีอย่างเต็มรูปแบบเพื่อใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก แต่เมื่อเปิดบริการแล้วจะยังไม่ใช้ทันที จะขอดูบริการและระบบสัญญาณ พร้อมอยากได้ค่าบริการที่ถูก ประมาณเดือนละไม่เกิน 500 บาท พร้อมมั่นใจฝีมือ กสทช.ในการผลักดันให้ครอบคลุมทั่วประเทศ...
เมื่อวันที่ 11 ต.ค.2555 "กรุงเทพโพลล์" ศูนย์วิจัยมหาวิทยาลัยกรุงเทพ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “คนไทยกับการรอคอยระบบ 3G เต็มรูปแบบ” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ร้อยละ 55.9 ใช้มือถือสมาร์ทโฟน (ในจำนวนนี้ร้อยละ 38.9 ได้เปิดใช้ระบบ 3G แล้ว) ขณะที่ร้อยละ 44.1 ใช้โทรศัพท์มือถือธรรมดา ส่วนการตั้งตาคอยระบบ 3G เต็มรูปแบบมากน้อยเพียงใด ร้อยละ 69.0 ระบุว่า มากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 31.0 ระบุว่า น้อยถึงน้อยที่สุด ทั้งนี้ หากมีการเปิดใช้ระบบ 3G เต็มรูปแบบ จะใช้ประโยชน์อะไรมากที่สุด ร้อยละ 61.8 บอกว่าจะใช้สังคมออนไลน์ เช่น facebook/ twitter รองลงมา ร้อยละ 42.0 จะใช้ติดตามข่าวสารออนไลน์ และร้อยละ 37.5 จะใช้ฟังเพลง/ฟังวิทยุ/ดูหนัง (ออนไลน์)
นอกจากนี้ ยังพบว่าการเปิดให้บริการระบบ 3G เต็มรูปแบบ ประชาชนร้อยละ 73.1 ระบุว่า จะยังไม่เปลี่ยนไปใช้ทันที ขอรอดูค่าบริการ และระบบสัญญาณว่าครอบคลุมมากน้อยเพียงใดก่อน ขณะที่ร้อยละ 21.5 ระบุว่า จะเปลี่ยนไปใช้ทันทีที่เปิดบริการ มีเพียงร้อยละ 5.4 เท่านั้นที่ระบุว่า ไม่เปลี่ยนไปใช้แน่นอน
ส่วนความคิดเห็นต่ออัตราค่าบริการ 3G เต็มรูปแบบ เปรียบเทียบกับระบบ 3G ที่ให้บริการในปัจจุบัน ร้อยละ 55.3 อยากให้ค่าบริการถูกลงกว่าเดิม ขณะที่ร้อยละ 24.9 ระบุว่า ค่าบริการสามารถปรับเพิ่มได้ตามความเหมาะสม และร้อยละ 19.8 อยากให้ค่าบริการเท่าเดิม ขณะที่อัตราค่าบริการต่อเดือนสูงสุดที่ยอมรับได้ ร้อยละ 26.8 ระบุว่า ไม่ควรเกิน 500 บาท รองลงมาร้อยละ 22.1 ระบุว่าไม่ควรเกิน 300 บาท และร้อยละ 5.7 ระบุว่า ไม่ควรเกิน 600 บาท ประเด็นความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด ที่จะเปลี่ยนโทรศัพท์มือถือให้มีประสิทธิภาพดีขึ้นเพื่อรองรับระบบ 3G เต็มรูปแบบ ร้อยละ 74.1 เห็นว่ามีความเป็นไปได้มาก ขณะที่ร้อยละ 21.1 เห็นว่ามีความเป็นไปได้น้อย
สำหรับความมั่นใจต่อ กสทช. ว่าจะเร่งผลักดันให้มีการขยายสัญญาณ 3G เต็มรูปแบบ ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ส่วนใหญ่ทั่วประเทศ พบว่า ประชาชนร้อยละ 59.2 ระบุว่า มีความมั่นใจใน กสทช. มากถึงมากที่สุด ขณะที่ร้อยละ 40.8 มีความมั่นใจน้อยถึงน้อยที่สุด เมื่อถามถึงเทคโนโลยี 4G มีความสำคัญต่อประเทศไทยมากน้อยเพียงใดที่จะต้องรีบผลักดันให้เกิดขึ้น ร้อยละ 50.3 เห็นว่ามีความสำคัญแต่ไม่เร่งด่วน ขณะที่ร้อยละ 43.6 เห็นว่ามีความสำคัญมากและเร่งด่วน และร้อยละ 6.1 เห็นว่าไม่มีความสำคัญ
ข้อมูลจาก
http://www.thairath.co.th 11 ต.ค. 2555 เวลา 09.59 น.