จริงไหม หากเคยเป็นเส้นเลือดสมองตีบ ต่อไปต้องเกิดเส้นเลือดสมองแตก สัญญาณอันตรายแบบไหนต้องรีบไปพบแพทย์
โรคหลอดเลือดสมอง สาเหตุสำคัญลำดับต้น ๆ ที่พรากชีวิตคนไทย จากรายงานสถิติสาธารณสุข กระทรวงสาธารณสุข ประเทศไทยในปี 2563 มีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองทั้งหมด 34,545 คน (อัตราตาย 53 ต่อประชากรแสนคน) แบ่งเป็น เพศชาย 19,949 คน (ร้อยละ 58) มากกว่าเพศหญิง 14,596 คน (ร้อยละ 42) ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปี จำนวน 23,817 คน (ร้อยละ 69) ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยในแต่ละปีตั้งแต่ 2560-2564 พบผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองต่อประชากรแสนคนเท่ากับ 479, 534, 588 และ 645 ตามลำดับ เช่นเดียวกับอัตราตายที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น
ตั้งแต่ปี 2560 - 2563 พบอัตราตายต่อประชากรแสนคนจากโรคหลอดเลือดสมอง เท่ากับ 48, 47, 53 และ 53 ตามลำดับ
อัมพฤกษ์ อัมพาต หรือ STROKE จึงจัดได้ว่า เป็นโรคที่คนไทยต้องระวัง มีความรุนแรงสูงถึงขั้นเสียชีวิต หรือเกิดความพิการระยะยาวได้ หลายคนที่เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบ จึงมักจะกังวลว่าจะเกิดซ้ำในอนาคตหรือไม่ หรืออาจเสี่ยงต่อการเกิดหลอดเลือดสมองแตกได้
นายแพทย์ธนบูรณ์ วรกิจธำรงค์ชัย นายแพทย์ชำนาญการพิเศษ อายุรกรรมประสาท เชี่ยวชาญด้านโรคหลอดเลือดสมองและการรักษาโรคหลอดเลือดสมองอุดตันด้วยสายสวนหลอดเลือดสมอง กล่าวกับ Hfocus ว่า คนไข้ที่เกิดปัญหาหลอดเลือดสมองจะได้รับยาไปรับประทานเพื่อไม่ให้เป็นซ้ำ เช่น ยาต้านเกล็ดเลือดสำหรับโรคหลอดเลือดสมองตีบ หรือผู้ที่มีโรคประจำตัวอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุของโรคหลอดเลือดสมองตีบ จะได้รับยาเพื่อรักษาโรคประจำตัวไปด้วย ทั้งโรคหัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะหรือหัวใจเต้นผิดจังหวะ จะได้รับยาป้องกันการเกิดลิ่มเลือด ส่วนผู้ป่วยเบาหวานหรือมีความดันโลหิตสูง จะได้รับการรักษาไปพร้อม ๆ กัน โอกาสเกิดซ้ำของผู้ป่วยจึงน้อยลง แต่ก็ยังสามารถเป็นได้อยู่
"หากผู้ที่เคยเป็นโรคหลอดเลือดสมองตีบด้านขวา ก็อาจจะเกิดโรคหลอดเลือดสมองตีบข้างซ้ายได้ หรือเป็นซ้ำข้างเดิมได้ และอาจเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดสมองแตกได้ ถ้าตัวผู้ป่วยไม่ดูแลสุขภาพ ละเลยการรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง แต่ที่น่ากังวล คือ ผู้ป่วยที่มีอาการน้อย เช่น มีอาการแขนขาอ่อนแรง 5-10 นาทีแล้วก็หาย เคสเหล่านี้เจออยู่เรื่อย ๆ คิดว่าไม่เป็นอะไร หายได้เอง ไม่ได้เข้ารับการตรวจรักษา แต่นี่คือ อาการเตือนของโรคหลอดเลือดสมองแล้ว เรียกว่า โรคหลอดเลือดสมองตีบชั่วคราว ต้องรีบไปรักษาเพื่อกินยาป้องกัน กลุ่มผู้ป่วยที่ไม่ได้กินยารักษาโรคประจำตัว โอกาสเป็นซ้ำจะสูงมาก และอาจเป็นหลอดเลือดเส้นอื่นได้ด้วย" นายแพทย์ธนบูรณ์ กล่าว
นายแพทย์ธนบูรณ์ เพิ่มเติมว่า ปัจจุบันต้องมีการ Stroke Awareness ระแวดระวัง โรคหลอดเลือดสมอง คอยสังเกตอาการดูว่า อาการเตือนแบบนี้ให้รีบมาโรงพยาบาล เพราะโรคหลอดเลือดสมองตีบเกิดจากสมองขาดเลือดไปเลี้ยง ทุกเวลาที่เนื้อสมองขาดเลือด ทุก 1 วินาที เซลล์ต่าง ๆ จะเสียหาย 20 ล้านเซลล์ หากมีอาการที่สงสัยว่าเป็นโรคหลอดเลือดสมอง เช่น พูดไม่ชัด ปากเบี้ยว มองเห็นไม่ชัด แขนขาอ่อนแรง ให้รีบไปโรงพยาบาลที่ใกล้ที่สุดโดยไม่ต้องปฐมพยาบาล แพทย์จะพิจารณาให้ยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำภายใน 4 ชั่วโมงครึ่งหลังมีอาการหากไม่มีข้อห้าม นับตั้งแต่มีอาการจนถึงการได้รับการวินิจฉัย ยาดังกล่าวมีประสิทธิภาพมาก โดยเฉพาะหลอดเลือดสมองเส้นเล็ก พบว่ามากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ เมื่อได้รับยาละลายลิ่มเลือดทางหลอดเลือดดำแล้ว ผู้ป่วยจากที่อ่อนแรงจะกลับมาดี บางคนกลับไปทำงาน ไปอยู่กับครอบครัวได้ปกติ อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ป่วยที่เป็น โรคหลอดเลือดสมองเส้นใหญ่อุดตัน ปัจจุบันมีการรักษาโดยการใส่สายสวนหลอดเลือดสมองเพื่อนำลิ่มเลือดที่อุดตันออกได้หากไม่มีข้อห้าม ซึ่งสถาบันประสาทวิทยาเปิดให้การรักษา 24 ชั่วโมง 7 วันทำการ ดังนั้น หากผู้ป่วยมีอาการให้รีบมาโรงพยาบาล เพื่อให้ได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็วที่สุด
ข้อมูลจาก hfocus.org