วันที่ 14 มกราคม 2566 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า เมื่อวันที่ 13 ม.ค. 66 ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2565 ซึ่งได้ยกเลิกและปรับปรุงระเบียบฯ ฉบับเดิม พ.ศ. 2544 เพื่อให้เป็นแนวทางปฏิบัติในการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐ เพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการทุจริตและประพฤติมิชอบในรูปแบบต่าง ๆ รวมถึงกระทำการอันเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนตนและผลประโยชน์ส่วนรวมของเจ้าหน้าที่ ที่สอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันและแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ ตลอดจนกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
โดยระเบียบฯ ใหม่จะมีผลตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา หรือ มีผลตั้งแต่วันที่ 14 ม.ค. 66 เป็นต้นไป ซึ่งสาระสำคัญได้กำหนดห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐหรือบุคคลในครอบครัวให้หรือรับของขวัญระหว่างผู้บังคับบัญชา ผู้ในบังคับบัญชา หรือบุคคลในครอบครัวของผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐด้วยกัน ตลอดจนห้ามไม่ให้บุคคลข้างต้นรับของขวัญจากผู้ที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ของรัฐนั้น เว้นแต่เป็นการให้หรือรับตามปกติประเพณีนิยม ซึ่งมีราคาหรือมูลค่าไม่เกิน 3,000 บาท จากผู้ให้แต่ละคนและแต่ละโอกาส หรือตามที่คณะกรรมการ ปปช. กำหนดไว้
ทั้งนี้ ระเบียบฯ ได้กำหนดบทนิยามของเจ้าหน้าที่ของรัฐ หมายถึงข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือผู้ปฏิบัติงานอื่น ในหน่วยงานของรัฐ ส่วนบุคคลในครอบครัวให้หมายความถึง คู่สมรส บุคคลซึ่งอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสอันถือว่าเป็นคู่สมรสตามที่คณะกรรมการ ปปช. กำหนดไว้ บุตร บุตรบุญธรรม ผู้รับบุตรบุญธรรม บิดา มารดา และพี่น้องร่วมบิดามารดา หรือร่วมบิดาหรือร่วมมารดาเดียวกัน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า สำหรับ “ของขวัญ” ที่กำหนดตามระเบียบฯ นั้น ใกล้เคียงกับระเบียบเดิมนั่นคือ เงินหรือทรัพย์สินที่ให้แก่กันเพื่ออัธยาศัยไมตรี ให้เป็นรางวัล ให้โดยเสน่หา ให้เพื่อการสงเคราะห์หรือให้เป็นสินน้ำใจ และให้หมายรวมถึงประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ เช่น การให้สิทธิพิเศษซึ่งไม่ใช่เป็นสิทธิที่จัดไว้สำหรับบุคคลทั่วไป ในการได้รับการลดราคาทรัพย์สินหรือการได้รับบริการ หรือการได้รับการฝึกอบรม หรือการได้รับความบันเทิงตลอดจนการออกค่าใช้จ่ายในการเดินทาง หรือการท่องเที่ยว ค่าที่พัก ค่าอาหาร หรือสิ่งอื่นใด ในลักษณะเดียวกัน รวมถึงการให้บัตร ตั๋ว หรือหลักฐานอื่นใด การชำระเงินให้ล่วงหน้าหรือการคืนเงินหรือสิ่งของให้ภายหลัง
นอกจากนี้ ได้เพิ่มบทนิยามของทรัพย์สินที่ให้เป็นของขวัญ นอกจากจะหมายถึงทรัพย์สินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้วให้หมายความรวมถึงทรัพย์สินตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลด้วย
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดจงใจปฏิบัติเกี่ยวกับการให้ของขวัญหรือรับของขวัญโดยฝ่าฝืนระเบียบฯ จะถือว่าผู้นั้นกระทำผิดวินัยหรือไม่ประพฤติปฏิบัติตนให้เป็นไปตามประมวลจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ของรัฐ และให้ดำเนินการตามกฎหมาย กฎ ประมวลจริยธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐหรือมติคณะรัฐมนตรี ที่เกี่ยวข้องต่อไป
พร้อมกันนี้ ระเบียบฯ ยังได้กำหนดแนวปฏิบัติกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐได้พบว่าบุคคลในครอบครัวรับของขวัญมาโดยฝ่าฝืนระเบียบฯ โดยที่เจ้าหน้าที่ผู้นั้นไม่ได้ยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจ รวมถึงกำหนดให้หน่วยงานของรัฐมีหน้าที่สอดส่อง ดูแลและให้คำแนะนำในการปฏิบัติตามระเบียบนี้แก่เจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งเป็นผู้อยู่ในบังคับบัญชาของตน
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ระเบียบฯ ได้กำหนดแนวทางเพื่อการเสริมสร้างทัศนคติในการประหยัดแก่ประชาชนทั่วไปและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ในการแสดงความยินดี แสดงความขอบคุณ การต้อนรับ แสดงความเสียใจ หรือกรณีอื่น ๆ ในโอกาสต่าง ๆ ตามปกติประเพณีนิยม ให้ใช้วิธีการอย่างอื่นแทนการให้ของขวัญ เช่น การใช้บัตรอวยพร การลงนามในสมุดอวยพร การสื่อสารผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือการทำกิจกรรมจิตอาสา และให้ผู้บังคับบัญชาปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างในการส่งเสริมค่านิยมดังกล่าว มีการแนะนำหรือกำหนดมาตรการจูงใจที่จะพัฒนาทัศนคติ จิตสำนึก และพฤติกรรมของผู้อยู่ในบังคับบัญชาให้เป็นไปในแนวทางประหยัด
ทั้งนี้ ผู้สนที่ใจสามารถศึกษารายละเอียด ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐ พ.ศ. 2565 ตามลิงค์ดังนี้ bit.ly/3XrveRM