ปลัดมหาดไทยเดินหน้าสนองนโยบายรัฐบาลปราบยาเสพติดยกเป็นวาระแห่งชาติ พาปลัดสธ. ผบ.ตร. และเลขาธิการ ป.ป.ส.ดูความสำเร็จ “หนองบัวลำภูต้นแบบสีขาวปลอดยาเสพติด” หนุน 5 ทหารเสือในหมู่บ้านผนึกทีมจิตอาสาจาก 7 ภาคีเครือข่ายเสริมทัพสร้างความเข้มแข็งร่วมแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ให้เกิดความยั่งยืน
เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ศูนย์ปฏิบัติการชุมชนยั่งยืนบ้านท่าอุทัย (ศาลาประชาคมบ้านท่าอุทัย) ต.อุทัยสวรรค์ อ.นากลาง จ.หนองบัวลำภู นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ(ผบ.ตร.) นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง นพ.สุขสันต์ กิตติศุภกร รองปลัดกรุงเทพมหานคร และคณะ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมและติดตามการดำเนินงานตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจังหวัดหนองบัวลำภูในระยะเวลาเร่งด่วน 3 เดือน โดยได้รับเมตตาจาก พระราชวชิรธาดา เจ้าคณะจังหวัดหนองบัวลำภู ร่วมลงพื้นที่ โดยมี นายสุวิทย์ จันทร์หวร ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู นายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดอุดรธานี นายทวี เสริมภักดีกุล ผู้ว่าราชการจังหวัดเลย นายราชันย์ ซุ้นหั้ว ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย นายนฤชา โฆษาศิวิไลซ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดบึงกาฬ พล.ต.ท.ยรรยง เวชโอสถ ผู้บัญชาการตำรวจภูธร ภาค 4 พร้อมด้วยหัวหน้าส่วนราชการ นายอำเภอ ข้าราชการ พนักงาน เจ้าหน้าที่ และภาคีเครือข่าย ในพื้นที่จังหวัดหนองบัวลำภู ร่วมให้การต้อนรับ
นายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ในวันนี้ผู้บริหารระดับสูงของหน่วยที่เกี่ยวข้องต่างมี “หัวใจเดียวกัน” คือ “อยากเห็นสิ่งที่ดีเกิดขึ้นในสังคมไทย” โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อคิดสำคัญที่ว่า “ทำอย่างไรให้เกิดความยั่งยืน” ซึ่งความยั่งยืนในการแก้ไขปัญหายาเสพติดอยู่ที่ “ใจ” และอยู่ที่ “พวกเราทุกคน” ที่ต้องก้าวผ่านข้อจำกัดของทรัพยากรการบริหารทั้งงบประมาณ กำลังคน เครื่องไม้เครื่องมือต่าง ๆ ทั้งนี้ รัฐบาลภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความมุ่งมั่นในการขับเคลื่อน “แก้ไขปัญหายาเสพติด” ที่เป็นวาระแห่งชาติ โดยสั่งการให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ได้มอบแนวทางการทำงานให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำให้ยาเสพติดหมดไปจากสังคมไทย ซึ่ง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เน้นย้ำและกำชับให้ทุกองคาพยพของมหาดไทย. ตั้งแต่ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และทุกกลไกได้ประกาศสงครามกับยาเสพติดอย่างจริงจังและต่อเนื่อง พร้อมทั้งมอบนโยบายและหนุนเสริมเพื่อให้ทุกพื้นที่ทำงานอย่างเต็มสติกำลัง เพื่อแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน เพราะปัญหายาเสพติดถือเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ ดังพระราชเสาวนีย์ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่พระราชทานพระราชดำรัสถึงโทษภัยของยาเสพติดว่า “ยาเสพติดทำให้คนกลายเป็นสัตว์ สัตว์ซึ่งฆ่าได้กระทั่งแม่ของตนเอง สัตว์ซึ่งฆ่าได้กระทั่งลูกของตนเอง ซึ่งสัตว์ในโลกนี้มีลักษณะอย่างนี้หายากมาก” โดยพระราชทานแนวทางทำให้ทุกภาคส่วนลุกขึ้นมาดูแลลูกหลานให้มีภูมิคุ้มกัน ทำให้ชุมชน/หมู่บ้านปลอดยาเสพติด ด้วยพลังของคนในหมู่บ้านภายใต้ชื่อ “กองทุนแม่ของแผ่นดินหรือหมู่บ้านกองทุนแม่ของแผ่นดิน”
นอกจากนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ และภาคีเครือข่าย Re X-Ray ผู้เกี่ยวข้องกับยาเสพติด ซึ่งได้ทำสำเร็จตั้งแต่วันที่ 31 ต.ค. 65 มีจำนวนผู้ค้า/ผู้เสพยาเสพติดทั่วประเทศ 1.2 แสนคน และร่วมกันบูรณาการทุกภาคีเครือข่ายในพื้นที่ขับเคลื่อนแก้ปัญหาอย่างเต็มกำลังความสามารถ โดยกรมการปกครอง ได้เสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น วงเงิน 994 ล้านบาท เพื่อจัดโครงการช่วยเหลือผู้เสพ/ผู้ติดยาเสพติด รุ่นละ 50 คน จำนวน 2,000 รุ่น รวม 100,000 คน เพื่อทำให้กลุ่มเป้าหมายได้เข้าสู่ระบบฟื้นฟูและการบำบัดรักษาด้วยโปรแกรมที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้กำหนดไว้
“โครงสร้างการขับเคลื่อนที่สำคัญที่จะทำให้ตอบโจทย์การแก้ไขปัญหายาเสพติดให้เกิดความยั่งยืนเพิ่มเติมเสริมกำลังของ 5 ทหารเสือในหมู่บ้าน/ชุมชน คือ “ทีมจังหวัด ทีมอำเภอ ทีมตำบล และทีมหมู่บ้านแบบบูรณาการอย่างยั่งยืน” ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้ดำเนินการขับเคลื่อนโครงการอำเภอบำบัดทุกข์ บำรุงสุข แบบบูรณาการอย่างยั่งยืน โดยมี ทีมจิตอาสาจาก 7 ภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย ภาคราชการทุกกระทรวง ผู้นำศาสนา ผู้นำวิชาการ ภาคธุรกิจเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคสื่อมวลชน อำเภอละ 10 คน จาก 878 อำเภอ เรียกว่า “ทีมอำเภอ” ได้ลุกขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญในการกระตุ้นปลุกเร้าผู้มีจิตอาสาในพื้นที่ รวมพลังกันเป็น “ทีมตำบล” “ทีมหมู่บ้าน” ช่วยกันดูแลพี่น้องประชาชนในพื้นที่ในทุกเรื่องที่เป็นปัญหาความเดือดร้อน ไม่ใช่แค่เรื่องยาเสพติดอย่างเดียว ครอบคลุมทั้งเรื่องโรคระบาด ปัญหาสิ่งแวดล้อม การคัดแยกขยะ การจัดทำถังขยะเปียกลดโลกร้อน การสร้างความมั่นคงด้านอาหาร การช่วยเหลือเด็กไม่มีทุน เพื่อให้เกิดการ “บูรณาการทั้งคนและทุกภารกิจในพื้นที่เพื่อให้เกิดความยั่งยืน” เพราะแม้ว่าผู้นำ คือ ท่านนายอำเภอจะเกษียณอายุราชการ หรือย้ายไปดำรงตำแหน่งอื่น “ทีมเหล่านี้” จะยังคงเป็นทีมที่ทรงพลังในการขับเคลื่อนแก้ไขปัญหายาเสพติดและทุกปัญหาในพื้นที่ด้วยพลังของคนในชุมชนอย่างยั่งยืน” ปลัด มท. กล่าวเน้นย้ำ
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ กล่าวว่า การขับเคลื่อนนโยบายด้านยาเสพติดเป็นนโยบายที่ต้องบูรณาการร่วมกันทั้งการป้องกัน ปราบปราม และบำบัดรักษา โดยเฉพาะการบำบัดรักษาและฟื้นฟู โดยกระทรวงสาธารณสุขได้จัดตั้งหน่วยบริการบำบัดรักษา โดย 1) จัดตั้งหอผู้ป่วยจิตเวชและบำบัดผู้ติดยาเสพติดที่โรงพยาบาลจังหวัดครบทุกจังหวัดแล้ว 2) ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ผลิตจิตแพทย์เพิ่มเติม 800 คน และพยาบาลจิตเวช 3,000 พันคน โดยจะดูแลผู้ป่วยเป็นรายบุคคล มี อสม. เป็นกลไกในพื้นที่ร่วมแก้ปัญหายาเสพติด
ด้าน พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ กล่าวว่า ภารกิจการแก้ปัญหายาเสพติดยังไม่จบ การทำงานต้องบูรณาการพื้นที่ที่ต้องสู้ต่อไปเพื่อทำให้ทุกอย่างดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องน้อมนำพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งทรงย้ำว่า “หนองบัวลำภูอย่าให้เหตุการณ์นี้สูญเปล่า ขอให้แก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างจริงจัง” นอกจากนี้ ได้สั่งการให้ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดทุกจังหวัด เป็นขุนพลช่วยสนับสนุนท่านผู้ว่าราชการจังหวัดและท่านนายอำเภอ ลงพื้นที่แก้ปัญหาและติดตามการแก้ปัญหาอย่างต่อเนื่อง เพราะ “การลงพื้นที่” เป็นคำตอบสุดท้ายที่พี่น้องประชาชนจะพึงพอใจและรู้สึกว่าปลอดภัย ดังนั้นตำรวจทุกหน่วยต้องร่วมกันลงพื้นที่ร่วมกันบูรณาการกับฝ่ายปกครองและทุกหน่วยอย่างจริงจังต่อเนื่อง
ขณะที่ นายวิชัย ไชยมงคล เลขาธิการ ป.ป.ส. กล่าวว่า ขอให้ขยายผลต้นแบบนี้ไปยังทุกจังหวัด พร้อมทั้งขอสนับสนุนการเตรียมความพร้อมของกระทรวงมหาดไทยที่ได้ขอรับสนับสนุนงบกลาง 994 ล้านบาท เพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรม พร้อมทั้งย้ำเตือนประชาชนได้ช่วยกันสร้างการรับรู้โทษตามประมวลกฎหมายยาเสพติด โดยหากผู้ใดยินยอมให้ผู้อื่นนำบัตรประชาชนไปเปิดบัญชี หรือซิมการ์ดโทรศัพท์ หรือเอาไปให้ผู้อื่นใช้เช่าบ้าน ทำธุรกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับยาเสพติด ต้องรับโทษจำคุก 3 ปี ปรับไม่เกิน 60,000 บาท ซึ่งพนักงานสอบสวนสามารถแจ้งข้อกล่าวหาได้ทันที
นายแมนรัตน์ รัตนสุคนธ์ อธิบดีกรมการปกครอง กล่าวว่า ขอให้ทุกอำเภอได้เตรียมความพร้อมโครงสร้างและกระบวนการทำงานแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับพื้นที่ให้พร้อมดำเนินการได้ทันที พร้อมทั้งสร้างแรงบันดาลใจให้กับทีมงานทุกภาคส่วนในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหายาเสพติดที่เป็นเรื่องเร่งด่วนและเรื่องที่สำคัญของเราพวกเราทุกคน เพื่อบำบัดทุกข์ บำรุงสุขให้กับพี่น้องประชาชนอย่างแท้จริงและยั่งยืน
ด้าน นายสุวิทย์ จันทร์หวร ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวบรรยายสรุปผลการปฏิบัติตามมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดจังหวัดหนองบัวลำภูในระยะเวลาเร่งด่วน 3 เดือน ด้วยแนวทาง “หนองบัวลำภูต้นแบบจังหวัดสีขาวปลอดยาเสพติดครบวงจร” ที่ครอบคลุมมาตรการป้องกัน ปราบปราม บำบัดรักษา และฟื้นฟูสภาพทางสังคม ได้แก่ 1) การแก้ไขปัญหาด้วยแนวคิด Change for Good โดย “5 เสือพาพี่น้องทำความดี” ทั้งระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน และคุ้ม 2) จัดทำตู้ราชสีห์ ผ่านระบบ QRCODE กระจายทุกหมู่บ้าน ตลาด ชุมชน สถานที่ราชการในทุกอำเภอ เพื่อประชาชนร้องเรียนร้องทุกข์ และแจ้งเบาะแสการกระทำผิด 3) จัดชุดกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน อสม. รพ.สต. ตำรวจ อาสาตำรวจ และหัวหน้า/คณะกรรมการคุ้ม 5,149 คุ้ม คัดกรองและดูแลผู้ป่วยจิตเวช โดยมี อสม. และ กม. ที่ผ่านการอบรมการดูแลสังเกตผู้ป่วย ทั้งมีทีมผู้พิทักษ์ และชุดนาคาพิทักษ์ เข้าระงับเหตุทันที หากมีผู้ป่วยคลุ้มคลั่ง 4) จัดทำ Family folder รวบรวมข้อมูลปัจจัยเพื่อเลิกยาเสพติด การช่วยเหลือ และข้อมูลครอบครัว ครอบคลุมทั้งสุขภาพ รายได้ และข้อมูลอื่น ๆ พร้อมทั้งส่งเสริมบทบาทหมู่บ้าน/ชุมชนมีส่วนร่วม ด้วยกองทุนแม่ของแผ่นดิน 272 กองทุน กองทุนหมู่บ้านยั่งยืน 67 หมู่บ้าน ซึ่งจากการ Re X-ray ข้อมูลในพื้นที่ พบผู้เสพ 2,044 คน ผู้ค้า 389 คน ผู้ป่วยจิตเวช 320 คน และได้คัดกรองประชาชนอายุ 12-65 ปี ในชุมชน พบผู้เสพ 701 คน เข้ารับการคัดกรองจำแนกเป็นสีแดง เข้าบำบัดรักษาที่โรงพยาบาล และสีเหลือง สีเขียว บำบัดโดยชุมชน และในด้านปราบปราม ได้สนธิกำลังตั้งจุดตรวจ/จุดสกัด ถนนสายหลัก 7 จุด ถนนสายรอง 721 จุด ทำการสุ่มตรวจ 644 ครั้ง ตรวจพัสดุไปรษณีย์ 6 ครั้ง ขยายผลเครือข่ายยาเสพติดทำการยึดทรัพย์แล้ว 2 คดี และได้สุ่มตรวจเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อหาสารเสพติด 76 หน่วย 3,783 ราย พบมีสารเสพติด 43 ราย เข้ารับการบำบัดรักษา
พล.ต.ต.ธนชาติ รอดคลองตัน รองผบช.ภ. 4 กล่าวถึงการขับเคลื่อนโครงการนาคาพิทักษ์ รักษ์ประชา ปัจจุบันมีทีมเผชิญเหตุ 2,549 ทีม และทีมผู้พิทักษ์ 3,361 ทีม พร้อมบูรณาการเจ้าหน้าที่ฟื้นฟู และส่งเสริมทักษะใช้ชีวิตในสังคม เพื่อให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตในสังคมได้ และนำเสนอโครงการหัวโทนโมเดล โดยสถานีตำรวจภูธรหัวโทน อ.สุวรรณภูมิ จ.ร้อยเอ็ด ด้วยการตั้งกลุ่มไลน์โดยดึงผู้นำท้องที่ ท้องถิ่น และสมาชิกในครอบครัวของผู้ป่วย ร่วมกันดูแลการบำบัดรักษา ทำให้ในปัจจุบัน พื้นที่ สภ.หัวโทน ไม่มีสถิติรับแจ้งเหตุผู้ป่วยจิตเวชก่อเหตุในพื้นที่
พระราชวชิรธาดา เจ้าคณะจังหวัดหนองบัวลำภู กล่าวถึงการมีส่วนร่วมของพระสงฆ์ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในหมู่บ้าน/ชุมชน โดยเมื่อตำรวจและฝ่ายปกครองจับกุมผู้กระทำความผิด (ต้นน้ำ) พระสงฆ์ได้ขับเคลื่อนโครงการนำคุกเข้าวัด “เรือนจำชั่วคราวบ้านห้วยเตย” ณ วัดพัชรกิติยาภาราม ฝึกวิชาชีพ พัฒนาด้านจิตใจให้กับผู้ต้องขังที่ได้รับโทษทางกฎหมาย (กลางน้ำ) และเมื่อฝึกแล้วก็กลับไปสู่ชุมชนเดิม (ปลายน้ำ) พร้อมทั้งเน้นย้ำเรื่องความยั่งยืน ด้วยการน้อมนำหลักการทรงงาน “บวร” บ้าน วัด ราชการ ทำให้วัดเป็นที่พึ่งของสังคม ทำให้เกิดความเข้มแข็ง มั่นคง และยั่งยืน ทำให้ทุกภาคส่วนเป็นผู้ร่วมพัฒนาประเทศชาติ พระศาสนา และประชาชนอย่างยั่งยืน
ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดได้สนธิความคิด สนธิกำลัง สนธิแผนงานและแนวทางการขับเคลื่อนที่เป็นตัวอย่างความสำเร็จในการแก้ไขปัญหายาเสพติดของหนองบัวลำภูและตำรวจภูธรภาค 4 ในวันนี้ ขยายผลทำให้ทุกจังหวัด อำเภอ ตำบล หมู่บ้าน ได้รู้จัก “หัวโทนโมเดล” และ “ผ้าป่าผู้ค้ายาเสพติด” ไปประยุกต์ใช้ตามภูมิสังคม และขอให้จังหวัดหนองบัวลำภูได้นำกลไก 7 ภาคีเครือข่ายเข้าไปเติมเต็ม โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคีเครือข่าย “ผู้นำศาสนา” มีพระสงฆ์ เป็นกำลังสำคัญ เพื่อทำให้ทีมประสบความสำเร็จในการสร้างสังคมที่มีแต่ความดี ความสงบสุข ไม่ต้องเกรงกลัวว่าจะโดนลูกหลงจากคนคลุ้มคลั่ง ไม่มีเหตุลูกฆ่าพ่อแม่ พ่อต้องตี หรือเป็นสังคมที่ผู้คนปราศจากความสุข ทำให้สังคมหนองบัวลำภูและสังคมไทยเป็นสังคมที่ปลอดยาเสพติดอย่างยั่งยืน