วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2566 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวถึงความคืบหน้า พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและการกระทำให้บุคคลสูญหายว่า กฎหมายป้องกันการทรมานและอุ้มหาย ยังจะมีผลบังคับใช้วันที่ 22 กุมภาพันธ์ นี้ โดยไม่ใช่เป็นการเลื่อนบังคับใช้ทั้งฉบับ แต่เป็นเพียงการเลื่อนบังคับใช้แค่ 4 มาตราเท่านั้น เนื่องจากเป็นกฎหมายใหม่ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ยังไม่มีความพร้อมด้านเครื่องมือ จึงมีหนังสือถึงกระทรวงยุติธรรม เมื่อวันที่ 6 มกราคม ที่ผ่านมา เพื่อขอให้ขยายระยะเวลาการบังคับใช้กฎหมาย ในหมวด 3 ซึ่งมีทั้งหมด 8 มาตรา ออกไปก่อนแบบไม่มีกำหนด เนื่องจากมีเหตุขัดข้อง ทั้งงบประมาณ อุปกรณ์ความพร้อมของบุคลากร และมาตรฐานกลางในการปฏิบัติงาน
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า จึงมีการหารือร่วมกัน ทั้งนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ กระทรวงยุติธรรม และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ซึ่งได้ข้อยุติ ยอมให้เลื่อนบังคับใช้กฎหมายแค่ 7 เดือน และให้เลื่อนใช้แค่ 4 มาตรา จากที่ขอมา 8 มาตรา ทางกระทรวงยุติธรรม จึงจัดทำพระราชกำหนด เพื่อขยายกำหนดเวลาบังคับใช้ 4 มาตรา คือ มาตรา 22-25 ออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2566 โดยมาตรา 22 คือ การบันทึกภาพและเสียงอย่างต่อเนื่อง มาตรา 23 การบันทึกข้อมูลผู้ถูกควบคุม เช่น ชื่อ นามสกุล อัตลักษณ์ มาตรา 24 ญาติ ทนาย ขอเจ้าหน้าที่เปิดเผยข้อมูลผู้ถูกควบคุมตัวได้ และมาตรา 25 ข้อยกเว้นการเปิดเผยข้อมูล เช่น ละเมิดสิทธิส่วนตัว
“กฎหมายฉบับนี้ ได้ถูกผลักดันตั้งแต่ปี 2550 แต่ก็สะดุดมาโดยตลอด จนมาถึงยุคผมเป็นรัฐมนตรีว่าการกระรวงยุติธรรม ก็ได้เสนอกฎหมายนี้ เข้าครม.ใหม่ เมื่อวันที่ 23 มิ.ย.63 และเสนอกฎหมายเข้าสภา เมื่อวันที่ 15 ก.ย.64 จนทุกฝ่ายเห็นชอบ ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 25 ต.ค.65 และกำลังจะมีผลบังคับใช้วันที่ 22 ก.พ.นี้ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้ ผมต้องการยกระดับกระบวนการยุติธรรม ให้มีความโปร่งใส เท่าเทียม ไม่มีการกลั่นแกล้งกันได้อีกต่อไป เพราะทุกขั้นตอนจากนี้ ต้องมีการบันทึกภาพทั้งหมด โดยผมรู้สึกภูมิใจ ที่มีหลายฝ่ายชื่นชมกฎหมายฉบับนี้ ถึงขั้นมีนักวิชาการด้านกฎหมาย ยกให้ว่า เป็นการช่วยปฎิรูปกระบวนการยุติธรรมของไทย ในรอบ 100 ปี ก็ทำให้ผมรู้สึกได้เป็นส่วนหนึ่ง ที่ได้ช่วยพัฒนากระบวนการยุติธรรม ให้เป็นที่พึ่งของประชาชนอย่างแท้จริง” รมว.ยุติธรรม กล่าว