กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) คืออะไร
ตอบ กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) คือ กองทุนที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ. 2539 มีสถานะเป็นองค์กรของรัฐที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายเฉพาะ ไม่มีสถานะเป็นส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจ เป็นระบบเสริมระบบบำเหน็จบำนาญเดิม
(1) วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งกองทุน
(1.1) เพื่อเป็นหลักประกันการจ่ายบำเหน็จบำนาญและให้ประโยชน์ตอบแทนการรับราชการแก่ข้าราชการเมื่อออกจากราชการ
(1.2) ส่งเสริมการออมทรัพย์ของสมาชิก
(1.3) จัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์อื่นให้แก่สมาชิก
(2) หน้าที่หลัก กบข. มี 2 ประการ คือ
(2.1) ด้านสมาชิก
งานที่ดำเนินการในส่วนนี้ ได้แก่ การดำเนินการเกี่ยวกับการรับข้อมูลและเงินรายเดือน การบริหารฐานข้อมูลบัญชีสมาชิก การจัดสรรผลประโยชน์จากการลงทุน การเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับกองทุน การจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่างๆให้แก่สมาชิก รวมถึงการจ่ายเงินสดและผลประโยชน์คืนแก่สมาชิกเมื่อพ้นจากสมาชิกภาพ
(2.2) ด้านการลงทุน
กบข. มีหน้าที่นำเงินที่รับเข้าจากสมาชิกไปลงทุนเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามวัตถุประสงค์และนโยบายการลงทุน
(3) ความครอบคลุม
ข้าราชการที่เป็นสมาชิก กบข. ขณะนี้ประกอบด้วยข้าราชการ 12 ประเภท คือ
- ข้าราชการพลเรือน - ข้าราชการตุลาการ
- ข้าราชการอัยการ - ข้าราชการพลเรือนในมหาวิทยาลัย
- ข้าราชการครู - ข้าราชการรัฐสภาสามัญ
- ข้าราชการตำรวจ - ข้าราชการทหาร
- ข้าราชการสำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ - ข้าราชการศาลปกครอง
- ข้าราชการสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน
- ข้าราชการสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ
ทั้งนี้ ข้าราชการที่รับราชการอยู่ก่อนวันที่ 27 มีนาคม 2540 (พระราชบัญญัติมีผลใช้บังคับ) จะเป็นสมาชิก กบข. หรือไม่ขึ้นอยู่กับความสมัครใจ แต่ข้าราชการที่เข้ารับราชการตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2540 ทุกคนต้องเป็นสมาชิก กบข.
(4) การจ่ายเงินสะสม
ออมเงินจากเงินเดือนตามอัตราที่กฎหมายกำหนด คือ 3% ของเงินเดือนทุกเดือน และรับเงินสมทบจากรัฐเป็นรางวัลสำหรับการออมเงินในอัตราที่เท่ากัน คือ 3% ของเงินเดือนทุกเดือน
(5) ผลประโยชน์ทดแทน
เมื่อข้าราชการออกจากงานจะได้รับเงิน 2 ส่วน คือ
ส่วนที่ 1 เงินบำเหน็จบำนาญ (สิทธิในบำเหน็จหรือบำนาญเป็นเช่นเดิม คือขึ้นอยู่กับระยะเวลาการทำงาน) จากเงินงบประมาณ ซึ่งคำนวณจาก
บำเหน็จ = เงินเดือนเดือนสุดท้าย * อายุราชการ (ปี)
บำนาญ = เงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย*อายุราชการ (ปี)
50
ทั้งนี้ เงินจำนวนนี้ต้องไม่เกินร้อยละ 70 ของเงินเดือนเฉลี่ย 60 เดือนสุดท้าย
ส่วนที่ 2 สมาชิกจะได้รับเงินก้อนจากกองทุนภายในระยะเวลาไม่เกิน 1 เดือน นับแต่เกษียณอายุหรือลาออกจากราชการซึ่งเงินก้อนนี้จะประกอบ
- เงินสะสม หรือเงินออมของสมาชิกที่ถูกหักจากเงินเดือนทุกเดือน
- เงินสมทบ หรือรางวัลการออมที่รัฐให้
- เงินประเดิม และเงินชดเชย เป็นเงินที่รัฐให้กับสมาชิกเพื่อชดเชยสูตรบำนาญที่จะได้น้อยลง (ชดเชยเพื่อไม่ให้ผู้เป็นสมาชิก กบข. เสียเปรียบคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิก) เงินนี้มีเงื่อนไขว่าจะจ่ายให้สมาชิกเมื่อสมาชิกสิ้นสุดสมาชิกภาพและเลือกรับบำนาญเท่านั้น หากสมาชิกที่เลือกรับบำเหน็จจะไม่ได้รับเงินประเดิมและเงินชดเชย เพราะไม่มีการเปลี่ยนสูตรบำเหน็จ
- ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการบริหารเงินดังกล่าว
(6) หน่วยงานกำกับดูแลคณะกรรมการ กบข. เป็นผู้กำหนดนโยบายและกำกับดูแลเพื่อให้มีการบริหารที่เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของกฎหมาย