ที่ประชุม ครม. (14 มี.ค. 66) เห็นชอบหลักการโครงการโคล้านครอบครัว วงเงิน 5,000 ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง จำนวน 79,610 กองทุน
เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกกองทุนที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถกู้ยืมเงินทุนสำหรับเลี้ยงโค กู้ยืมครัวเรือนละไม่เกิน 50,000 บาท จำนวน 100,000 ครัวเรือน (เลี้ยงโค ครัวเรือนละ 2 ตัว รวม 200,000 ตัว)
ระยะเวลาชำระคืนเงินกู้ไม่เกิน 4 ปี โดยประชาชนไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยให้แก่ธนาคาร ซึ่งรัฐบาลจะชดเชยดอกเบี้ยให้ ธ.ก.ส. ในอัตราคงที่ 4% ต่อปี
ทั้งนี้ สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องชำระคืนเงินต้นให้กองทุนหมู่บ้านฯ ให้แล้วเสร็จภายใน 4 ปี โดยในปีที่ 3 ให้ชำระคืนเงินต้น 50% ของวงเงินที่กู้ยืม และชำระคืนเงินต้นที่เหลือในปีที่ 4
ประโยชน์ที่จะได้รับจากโครงการนี้ จะช่วยสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้ครัวเรือนสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ลดภาระค่าครองชีพให้กับครัวเรือน และจัดสวัสดิการให้แก่สมาชิก สร้างระบบเศรษฐกิจฐานรากในระดับหมู่บ้านและชุมชน ให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน
วันที่ 15 มีนาคม 2566 นายอนุชา นาคาศัย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานกรรมการกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมืองแห่งชาติ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรีวันนี้ (14 มีนาคม 2566) มีมติอนุมัติการดำเนินงานโครงการโคล้านครอบครัว วงเงินงบประมาณ 5,000 ล้านบาท โดยให้ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนสินเชื่อให้กับกองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง มีกำหนดระยะเวลา 4 ปี เพื่อเปิดโอกาสให้สมาชิกกองทุนที่เข้าร่วมโครงการฯ สามารถกู้ยืมเงินทุนสำหรับเลี้ยงโค ครอบครัวละ 2 ตัว ซึ่งคาดว่าตลอดทั้งโครงการจะสามารถจัดหาโคได้ 2 แสนตัว สำหรับ 100,000 ครอบครัว โดยประชาชนไม่ต้องจ่ายดอกเบี้ยแก่ทางธนาคาร ทางรัฐจะชดเชยดอกเบี้ยธนาคารให้ตลอดระยะเวลา 4 ปีเต็ม ในอัตราคงที่ 4% ทั้งนี้ สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ที่เข้าร่วมโครงการ จะต้องชำระคืนเงินต้นให้กองทุนหมู่บ้านฯ ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 4 ปี โดยในปีที่ 3 ให้ชำระคืนเงินต้นร้อยละ 50 ของวงเงินที่กู้ยืม และชำระคืนเงินต้นที่เหลือในปีที่ 4
นายอนุชาฯ ย้ำ พร้อมเดินหน้าขับเคลื่อนโครงการฯ ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม มุ่งหวังให้สมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ได้รับประโยชน์โดยตรง เตรียมลุยลงพื้นที่เปิดโครงการฯ สร้างความรู้ความเข้าใจให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ทั่วทุกภาคของประเทศไทย มุ่งหวังให้โครงการโคล้านครอบครัวเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานรากและพัฒนาคุณภาพชีวิตของสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ อย่างเป็นรูปธรรม มีแหล่งทุนหมุนเวียนสำหรับการกู้ยืมเพื่อการลงทุน สร้างงาน สร้างรายได้ บรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์สภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ที่เป็นผลมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 สถานการณ์อุทกภัย และเสริมสภาพคล่องให้กับสมาชิกกองทุนหมู่บ้านฯ ผ่านการสนับสนุนการทำปศุสัตว์ คือ การเลี้ยงโค
“การเลี้ยงโค เลี้ยงไม่ยาก สามารถคืนทุนได้เร็ว พี่น้องประชาชนมีโอกาสจับเงินหลักแสน หลักล้านได้ง่าย ผมได้ทดลองให้เกษตรกรในพื้นที่ จ.สุโขทัย 1,000 ครัวเรือนเลี้ยงโคนำร่อง พบว่าประสบผลสำเร็จ 100% โดยประชาชนสามารถปลดหนี้ และยังมีเงินเพิ่มขึ้นในครัวเรือน ผมมั่นใจว่าโครงการนี้จะช่วยให้ประชาชนที่อยู่ในระดับฐานราก โดยเฉพาะภาคการเกษตรมีความเข้มแข็ง หลุดพ้นจากความยากจน เป็นโอกาสที่ประชาชนจะมีรายได้เสริม และอาจพัฒนาเป็นอาชีพหลักในอนาคตได้ ” นายอนุชา กล่าว