วันที่ 19 เมษายน 2566 นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ปัญหา “คนไทยไร้สิทธิ” เป็นความเลื่อมล้ำที่มีอยู่ในสังคมไทยมาช้านาน ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตเป็นอย่างมาก เพราะการไม่มีสิทธิสถานะทางทะเบียนทำให้พวกเขาไม่ได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานและสิทธิพลเมืองที่บุคคลคนหนึ่ง ๆ ควรจะได้รับ โดยเฉพาะระบบหลักประกันสุขภาพ เนื่องจากไม่มีชื่ออยู่ในระบบทะเบียนราษฎรอย่างถูกต้อง เวลาเจ็บป่วยก็ไม่สามารถเข้าสู่ระบบรักษาได้ รัฐบาลมุ่งแก้ไขให้ปัญหา ให้ความสำคัญต่อระบบหลักประกันสุขภาพ ผลักดันการเข้าถึงสิทธิการรักษาพยาบาลของคนไทยทุกคนจะต้องได้รับการรักษาพยาบาลตามสิทธิ
นางสาวรัชดา กล่าวว่า สำหรับคนไทยที่ยังไร้สิทธิ์ สามารถตรวจสอบสิทธิ์ เพื่อให้ได้สิทธิ อย่างเท่าเทียม ด้วย 7 ขั้นตอน ดังนี้
1. ตรวจสอบสถานะทางทะเบียน
2. รวบรวมเอกสารทางทะเบียน ได้แก่ บัตรประจำตัวประชาชนของผู้แจ้งบัตรประจำตัวประชาชนของบิดามารดา สูติบัตร ทะเบียนบ้านที่เคยมีชื่อ ใบแจ้งการย้ายที่อยู่ เอกสารอื่นๆ ที่ราชการออกให้ กรณีที่ไม่มีเอกสารใด ๆ ที่ใช้อ้างอิงก็สามารถยื่นคำร้องได้
3. ยื่นคำร้องต่อเจ้าหน้าที่ฯ สำนักทะเบียนอำเภอ หรือ สำนักทะเบียนท้องถิ่น (ที่มีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ปัจจุบัน)
4. ตรวจสอบเอกสารส่งให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารเบื้องต้น
5. เจ้าหน้าที่พิจารณาตรวจสอบหลักฐาน สอบสวนพยานบุคคล
6. แจ้งผลฯให้ผู้ร้องทราบ
และ 7. ถ้าไม่อาจพิสูจน์สถานะการเกิดและสัญชาติได้จะได้รับการจัดทำทะเบียนประวัติเป็นบุคคลประเภท 0 (มาตรา 19/2)
“สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครอง 0-2791-7312-6 กรณีที่มีหมายเลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก แต่ติดทะเบียนบ้านกลางหรือถูกจำหน่ายรายการต้องการใช้สิทธิ์ในการรักษาพยาบาล โทร.สายด่วน สปสช. 1330 สำหรับบุคคลทะเบียนประวัติประเภท 0 มาตรา(19/2) สอบถามสิทธิรักษาพยาบาล ติดต่อ กองเศรษฐกิจสุขภาพและหลักประกันสุขภาพ เบอร์ 02-590-1577 ในวันและเวลาราชการ” นางสาวรัชดา กล่าว