นายอนุชา บูรพชัยศรี รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ปฏิบัติหน้าที่โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี (9 พฤษภาคม 2566) เห็นชอบแนวทางวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ กรอบการดำเนินการด้วยวิธีการ ทางอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงาน และวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์สำหรับหน่วยงานระดับเริ่มต้นและระดับมาตรฐาน ซึ่งเป็นการจัดทำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในระยะแรก ตาม ม.19 แห่ง พ.ร.บ. การปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. 2565 และให้หน่วยงานของรัฐนำงานบริการมาให้บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง (Biz Portal และ Citizen Portal) โดยหน่วยงานที่ยังไม่มีช่องทางการให้บริการในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ ให้นำงานบริการมาพัฒนาบนแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางดังกล่าวเป็นทางเลือกแรก ส่วนหน่วยงานที่มีงานบริการที่พัฒนาเป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์แล้ว ให้นำงานบริการมาเชื่อมโยงกับแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรี ยังมอบให้คณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) พิจารณากรอบเวลาดำเนินการและติดตามเป็นระยะ เพื่อให้งานบริการของรัฐอยู่ในรูปแบบ อิเล็กทรอนิกส์โดยเร็ว
1. แนวทางวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ประกอบด้วย
(1) กรอบการดำเนินการด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ของหน่วยงาน
(1.1 )ขั้นตอนและเครื่องมือที่ใช้สำหรับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นคำแนะนำการใช้เครื่องมือตามระดับความพร้อมของหน่วยงาน เช่น ไปรษณีย์ อิเล็กทรอนิกส์ ไลน์ สื่อสังคมออนไลน์ ๆ อื่น เว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง เพื่อให้หน่วยงานทราบถึงภาพรวมว่าควรใช้เครื่องมือใดในแต่ละขั้นตอนของกระบวนการติดต่อ หรือขออนุมัติอนุญาตต่าง ๆ เช่น - การจัดทำแบบคำขอและยื่นคำขอ โดยหน่วยงานที่มีความพร้อมระดับเริ่มต้น สามารถใช้ฟอร์มสาเร็จรูป เช่น Google Forms ส่วนหน่วยงานที่มีความพร้อมสูงกว่าควรใช้ แบบฟอร์มอิเล็กทรอนิกส์ (e-Form) ในแอปพลิเคชันของหน่วยงาน/ขั้นตอนการจัดส่งใบอนุญาต ทั้งนี้ หน่วยงานที่มีความพร้อมระดับเริ่มต้นสามารถจัดส่งผ่านไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ ส่วนหน่วยงานที่มีความพร้อมสูงกว่าควรจัดส่งผ่านแอปพลิเคชันของหน่วยงาน
(1.2 ) รายละเอียดการดำเนินการโดยสังเขปสำหรับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นข้อมูลที่แจ้งให้หน่วยงานทราบถึงการใช้เครื่องมือต่าง ๆ สำหรับวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในระดับเริ่มต้นและระดับมาตรฐาน ตั้งแต่การเตรียมความพร้อม การจัดหา ทั้งด้านเทคโนโลยี และด้านการบริหารจัดการ (องค์ความรู้ เจ้าหน้าที่ เป็นต้น) การนำไปใช้ให้สอดคล้องกับที่กฎหมายกำหนด ตลอดจนข้อแนะนำ/ข้อพึงระวังของการใช้เครื่องมือ เช่น การจัดหาที่อยู่ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์กลาง หน่วยงานสามารถสร้างที่อยู่ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์เอง หรือเลือกใช้บริการของ สพร. ได้ และให้แจ้งที่อยู่เพื่อเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของ สพร. ในส่วนการพัฒนาแอปพลิเคชันต้องคำนึงถึงความปลอดภัยทางไซเบอร์และต้องได้มาตรฐานสากล
(2) วิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นการกำหนดแนวทางและมาตรฐานในการใช้ วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ในการให้บริการประชาชน
(2.1 ) สำหรับหน่วยงานระดับเริ่มต้น ที่มีข้อจำกัดด้านบุคลากร เทคโนโลยี และงบประมาณ สามารถจัดทำบริการอย่างง่ายโดยอาศัยช่องทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ หรือสื่อสังคมออนไลน์ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการปฏิบัติราชการทางอิเล็กทรอนิกส์ ในระดับเริ่มต้นได้อย่างครบถ้วน
(2.2 ) หน่วยงานระดับมาตรฐาน กำหนดมาตรฐานและคุณสมบัติขั้นต่ำ รวมทั้งแนวทางการดำเนินการผ่านระบบ e-Service เว็บแอปพลิเคชัน แอปพลิเคชันสำหรับโทรศัพท์มือถือ หรือบริการภายใต้ แพลตฟอร์มดิจิทัล เช่น บริการในแอปพลิเคชันทางรัฐ สำหรับหน่วยงานที่มีความพร้อม ทั้งบุคลากร เทคโนโลยี และงบประมาณ ระดับมาตรฐาน
โดยวิธีทางอิเล็กทรอนิกส์ทั้งสองฉบับ ยังแบ่งรายละเอียดออกเป็น 6 ส่วน ดังนี้
- การสร้างช่องทางอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรับเรื่องจากประชาชนและหน่วยงานอื่น เช่น หน่วยงานระดับเริ่มต้นควรสร้างที่อยู่ไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ มีการมอบหมายเจ้าหน้าที่สารบรรณควบคุมดูแลบัญชี และตรวจสอบจดหมายที่ได้รับ ส่วนหน่วยงานระดับมาตรฐานควรใช้ระบบ e-Service
- การรับเรื่องจากประชาชนและหน่วยงานอื่น เช่น หน่วยงานระดับเริ่มต้น ให้เจ้าหน้าที่สารบรรณตรวจสอบจดหมายที่ได้รับผ่านไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์และจัดทำทะเบียนหนังสือรับ ด้วยโปรแกรม Microsoft Excel ส่วนหน่วยงานระดับมาตรฐาน ให้มีการลงทะเบียนเรื่องที่ได้รับ จากระบบ e-Service เข้าสู่ฐานข้อมูล
- การดำเนินการภายในหน่วยงานหลังจากได้รับเรื่องทางอิเล็กทรอนิกส์ มีแนวทาง การดำเนินการสำหรับหน่วยงานระดับเริ่มต้นและระดับมาตรฐานคล้ายคลึงกัน เช่น การตรวจสอบ ความครบถ้วนถูกต้องของคำขอและเอกสารหลักฐาน (ประชาชนส่งไฟล์สำเนาเอกสารเพียงชุดเดียว และส่งในสกุลไฟล์ใดก็ได้ที่ใช้กันทั่วไป เช่น PDF JPG) การพิสูจน์และยืนยันตัวตน (อาจใช้ Digital ID หรือวิดีโอคอล) การรับเงินค่าคำขอ ค่าธรรมเนียม (ควรชำระเงิน เข้าบัญชีด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น Mobile Banking)
- การออกใบอนุญาต การแจ้งผลการพิจารณา หรือการออกหลักฐานอื่นใดให้ประชาชน ที่ยื่นคำขอหรือติดต่อมาด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ มีแนวทางการดำเนินการสำหรับหน่วยงานระดับเริ่มต้น และระดับมาตรฐานคล้ายคลึงกัน เช่น การจัดทำใบอนุญาตในรูปแบบ PDF และหากเป็นไปได้ควรจัดหาใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์เพื่อรับรองเอกสารที่จัดส่งให้ประชาชน เพื่อให้เกิดความน่าเชื่อถือ
- การจัดทำฐานข้อมูลใบอนุญาตที่กฎหมายกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องแสดงใบอนุญาตไว้ ในที่เปิดเผย เช่น การรวบรวมข้อมูลใบอนุญาตแล้วเปิดเผยในเว็บไซต์ของหน่วยงาน (สำหรับ หน่วยงานทั้งสองกลุ่ม) ในระบบ e-Service (สำหรับหน่วยงานระดับมาตรฐาน)
- อื่น ๆ เช่น ช่องทางในการสอบถามข้อมูล คำแนะนาเพิ่มเติมจาก สำนักงาน ก.พ.ร. การให้หน่วยงานระดับมาตรฐานหาวิธีการฯ ระดับเริ่มต้นมาใช้ได้หากระบบ e-Service ยังมีคุณสมบัติ ตามวิธีการฯ ระดับมาตรฐาน ไม่ครบถ้วน
2. กำหนดให้หน่วยงานของรัฐนำงานบริการมาให้บริการบนแพลตฟอร์มดิจิทัลกลาง (Biz Portal และ Citizen Portal) เพื่อบูรณาการการให้บริการของหน่วยงานต่าง ๆ บนแพลตฟอร์มดิจิทัลกลางที่ตอบโจทย์ประชาชนในมิติต่าง ๆ
-ระบบ Biz Portal ตอบโจทย์การประกอบอาชีพหรือธุรกิจ ของประชาชนและผู้ประกอบการ ผ่านเว็บไซต์
www.bizportal.go.th เช่น การขอจดทะเบียนพาณิชย์ หรือพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ การลงทะเบียน SME เพื่อขอรับบริการภาครัฐ การขอใบรับรอง แหล่งผลิตพืชอินทรีย์ เป็นต้น
-ระบบ Citizen Portal ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของประชาชน โดยพัฒนางานบริการผ่านแอปพลิเคชัน “ทางรัฐ” เช่น การแจ้งเหตุไม่ไปเลือกตั้ง การตรวจสอบข้อมูลเครดิตบูโรแบบสรุป การตรวจสอบสิทธิโครงการเยียวยาในระบบ ประกันสังคม เป็นต้น
3. ข้อมูลงานบริการภาครัฐ และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการพัฒนางานบริการที่สามารถพัฒนาให้เป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์
งานบริการภาครัฐตามคู่มือมาตรฐานกลางทั้งหมด จำนวน 3,830 งานบริการ สามารถพัฒนาให้เป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ 2,420 งานบริการ แบ่งเป็น
-งานบริการที่พัฒนาให้สามารถบริการในรูปแบบ อิเล็กทรอนิกส์ได้แล้ว จำนวน 1,395 งานบริการ เช่น การขออนุญาตโฆษณาอาหาร (อย.) งานให้บริการข้อมูลราคาประเมิน (กรมธนารักษ์) งานการติดตามสถานะคดี (กรมบังคับคดี) การออกบัตรประจำตัว คนพิการ (กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ) เสนอให้นำมาเชื่อมโยงกับระบบ Biz Portal หรือ Citizen Portal เพื่อเพิ่มช่องทางการให้บริการ กับประชาชน
-งานบริการที่ยังไม่มีช่องทางให้บริการในรูปแบบ อิเล็กทรอนิกส์ จำนวน 1,025 งานบริการ เช่น การขอเช่าที่ดินราชพัสดุ เพื่อประโยชน์อย่างอื่น (กรณียกเว้นการประมูลและมีอัตราค่าเช่าคงที่แล้ว) (กรมธนารักษ์) การจดทะเบียนผู้ส่งออกผัก และผลไม้ไปต่างประเทศ (กรมวิชาการเกษตร) การขอเทียบโอนผลการเรียนของนักเรียนโรงเรียนสังกัด สพฐ. (สพฐ.) เสนอให้นำมาพัฒนาบนระบบ Biz Portal และ Citizen Portal เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชน ลดภาระและค่าใช้จ่ายของหน่วยงาน ในการพัฒนาระบบ
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวเพิ่มเติมว่า แนวทางวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ส่งเสริมการทำงานและการให้บริการของภาครัฐ เช่น การอนุญาต การให้บริการ หรือการให้สวัสดิการแก่ประชาชน สามารถใช้วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์เป็นหลักได้ ลดภาระและต้นทุนของประชาชนในการติดต่อกับภาครัฐ เสริมสร้างความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และมีความสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว //