วันที่ 15 พ.ค. 66 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ประชาชนที่มีสิทธิเลือกตั้ง แต่อาจติดภารกิจเร่งด่วนทำให้ไม่สามารถไปเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค. 66 ที่ผ่านมาได้ สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้มีข้อแนะนำให้ดำเนินการแจ้งเหตุที่ไม่อาจไปเลือกตั้งได้ ในช่วง 7 วันหลังเลือกตั้ง คือ 15-21 พ.ค. 66 เพื่อป้องกันไม่ให้ถูกจำกัดสิทธิสำคัญทั้งที่เกี่ยวข้องกับสิทธิทางการเมือง สิทธิในการดำรงตำแหน่งทางข้าราชการการเมือง รวมถึงตำแหน่งในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
สำหรับขั้นตอนการแจ้งนั้นสามารถกรอกข้อมูลในแบบ ส.ส.1/8 หรือ ทำเป็นหนังสือชี้แจงเหตุที่ทำให้ไปใช้สิทธิเลือกตั้งไม่ได้ พร้อมระบุ เลขบัตรประจำตัวประชาชน และ ที่อยู่ตามทะเบียนบ้านให้ชัดเจน แล้วยื่นหนังสือต่อนายทะเบียนอำเภอ หรือ นายทะเบียนท้องถิ่น สามารถยื่นด้วยตัวเอง หรือ ส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
นอกจากนี้ ยังสามารถแจ้งผ่านระบบออนไลน์ ทางแอปพลิเคชัน Smart Vote หรือ เว็บไซต์
www.bora.dopa.go.th/all-election
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การไม่ไปเลือกตั้งแล้วไม่แจ้งเหตุ ไม่ถือเป็นกรณีที่ผิดกฎหมาย แต่จะถูกจำกัดสิทธิสำคัญ 5 ประการ ได้แก่ 1. ไม่มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านการเลือกตั้ง ส.ส. 2. ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็น ส.ส. หรือ สมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่น หรือสมัครรับเลือกเป็น สว.
3. ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกเป็นกำนัน และผู้ใหญ่บ้าน 4. ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งข้าราชการการเมือง และข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง 5. ไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งรองผู้บริหารท้องถิ่น เลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยเลขานุการผู้บริหารท้องถิ่น ประธานที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น ที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่น หรือ คณะที่ปรึกษาผู้บริหารท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
โดยการจำกัดสิทธิทั้ง 5 ประการ จะมีกําหนดเวลา 2 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง เมื่อผ่านพ้น 2 ปีแล้วสิทธิทั้งหมดจะกลับมาดังเดิม แต่หากระหว่างนั้นมีการเลือกตั้งอีกไม่ว่าจะเป็นการเลือกตั้งระดับประเทศ หรือระดับท้องถิ่น หากไม่ไปใช้สิทธิเลือกตั้งอีก การจำกัดสิทธิ 2 ปี ก็จะเริ่มนับใหม่ตั้งแต่การเลือกตั้งครั้งหลังสุด