วันที่ 12 มิ.ย.66 น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจําสํานักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาล โดยกระทรวงสาธารณสุข แจ้งเตือนประชาชน ระวังโรคไข้เลือดออก ซึ่งระบาดมากตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา โดยตั้งแต่เดือน ม.ค.-พ.ค. 2566 ประเทศไทยมีผู้ป่วยไข้เลือดออกถึง 18,173 ราย มากกว่าปีที่แล้วถึง 4.2 เท่า สูงสุดในรอบ 3 ปี และมีผู้เสียชีวิต 15 ราย เฉลี่ยมีผู้ป่วยสัปดาห์ละ 900 ราย เสียชีวิตสัปดาห์ละ 1 ราย โดยพื้นที่ซึ่งพบอัตราป่วยสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพฯ ตราด น่าน จันทบุรี ระยอง และแม่ฮ่องสอน โดยนักเรียนอายุ 5-14 ปี ป่วยสูงสุด รองลงมา คือกลุ่มอายุ 15-24 ปี
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า กระทรวงสาธารณสุข ประเมินว่า โรคไข้เลือดออก จะเริ่มมีแนวโน้มพบผู้ป่วยสูงขึ้นในเดือน มิ.ย. - ส.ค. นี้ ซึ่งเป็นช่วงฤดูฝน ก่อนจะเริ่มมีแนวโน้มผู้ป่วยลดลงในเดือน ก.ย.จึงขอให้ประชาชนป้องกันตัวเองและบุตรหลานไม่ให้ถูกยุงกัด พร้อมมีข้อแนะนำให้นอนในมุ้ง ทายากันยุง โดยผู้ปกครองไม่ควรประมาท ควรสังเกตอาการของบุตรหลานและคนในครอบครัวอย่างสม่ำเสมอ
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า วิธีสังเกตอาการของโรคไข้เลือดออก โดยในเบื้องต้นผู้ป่วยจะมีอาการ ไข้สูง นาน 2-7 วัน ปวดตัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดกระบอกตา ตัวแดง ตาแดง หากสงสัยว่าเป็นไข้เลือดออก ควรพาบุตรหลานไปพบแพทย์ทันทีเพื่อรับการวินิจฉัยและตรวจรักษา พร้อมกันนี้ รัฐบาลขอเชิญทุกภาคส่วนร่วมกันรณรงค์ป้องกันโรคไข้เลือดออก โดยช่วยกันทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลาย ซึ่งมักพบมากเมื่อเข้าสู่ฤดูฝน จึงควรหมั่นสำรวจในบริเวณรอบบ้าน เทน้ำขังทิ้งทุกๆ 7 วัน เช่น น้ำขังบริเวณจานรองกระถางต้นไม้ แจกัน ถังใช้น้ำ โอ่งน้ำ อ่างบัว ยางรถยนต์เก่า เป็นต้น