ผลการวิจัยล่าสุดจากมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน ประเทศอังกฤษ ซึ่งเปิดเผยเมื่อเร็วๆ นี้พบว่า เด็กที่เข้านอนดึกหรือไม่ได้เข้านอนในเวลาที่สม่ำเสมอ จะส่งผลให้ความสามารถในการอ่านและการคิดคำนวณอยู่ในระดับต่ำหากเทียบกับเด็กที่เข้านอนเร็วและเข้านอนเป็นเวลาอย่างสม่ำเสมอ
ทีมวิจัยนำโดยศาสตราจารย์อแมนดา แซกเกอร์ ทำการวิจัยซึ่งตีพิมพ์ในวารสารระบาดวิทยาและอนามัยชุมชน ทำการเก็บข้อมูลจากเด็กอายุ 7 ขวบ จำนวนมากกว่า 11,000 คน เพื่อศึกษาว่าการนอนหลับจะมีผลกระทบกับความสามารถในการเรียนรู้ของเด็กหรือไม่ และพบว่าโดยภาพรวมเด็กที่ไม่เคยมีเวลาเข้านอนอย่างสม่ำเสมอ หรือไม่เคยเข้านอนก่อนเวลา 21.00 น. มีคะแนนในการทดสอบความสามารถในการอ่าน การคิดคำนวณ และความเข้าใจในมิติสัมพันธ์ที่ต่ำกว่าเด็กที่มีพฤติกรรมการเข้านอนเร็วกว่า 21.00 น. อย่างสม่ำเสมอ และผลดังกล่าวจะชัดเจนมากในเด็กผู้หญิงด้วย
นางอแมนดาหัวหน้าทีมวิจัยระบุว่า การเข้านอนไม่เป็นเวลานั้นอาจเป็นผลสะท้อนมาจากสภาพแวดล้อมของครอบครัวที่ยุ่งเหยิง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ส่งผลมากกว่าการนอนหลับที่ถูกรบกวน โดยจากกลุ่มตัวอย่าง เด็กที่เข้านอนดึกและไม่เป็นเวลานั้นมาจากข้อด้อยด้านพื้นฐานทางสังคม ได้อ่านหนังสือน้อยในแต่ละคืน และโดยทั่วไปมักจะใช้เวลาก่อนนอนไปกับการดูทีวีเสียเป็นส่วนใหญ่
หน้า 9 มติชนรายวัน ฉบับวันจันทร์ที่ 15 กรกฎาคม 2556
ข้อมูลจาก มติชนออนไลน์ วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2556 เวลา 20:00:33 น.
http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1373886938&grpid=&catid=09&subcatid=0902