วันนี้ (18 กรกฎาคม 2566) เวลา 13.00 น. ที่สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โดย พันโท หนุน ศันสนาคม ผู้อำนวยการสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2566 เห็นชอบร่างกฎกระทรวงและร่างประกาศ รวม 3 ฉบับ ประกอบด้วย
1. ร่างกฎกระทรวงว่าด้วยการสมทบเงินรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล ตัวเลข 3 หลัก (N3) พ.ศ. ....
2. ร่างประกาศสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เรื่อง กำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล 6 หลัก (L6)
3. ร่างประกาศสำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล เรื่อง กำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลข 3 หลัก (N3) ตามมติ ครม. ที่เห็นชอบในหลักการการออกผลิตภัณฑ์ใหม่ สลากกินแบ่งรัฐบาล 6 หลัก และสลากกินแบ่งรัฐบาล ตัวเลข 3 หลัก ไปเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566
สำหรับขั้นตอนภายหลังจากที่ ครม. มีมติเห็นชอบแล้ว สำนักงานสลากฯ เตรียมนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะ
กรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลเพื่อทราบ และประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาลลงนามในประกาศให้มีผลบังคับใช้ โดยคาดว่าสลากกินแบ่งรัฐบาล 6 หลัก จะสามารถดำเนินการได้ภายในปี 2566 ขณะที่สลากกินแบ่งรัฐบาลตัวเลข 3 หลัก คาดว่าจะดำเนินการได้ภายในปี 2567 ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างขั้นตอน จัดเตรียมแนวทางดำเนินการให้มีความพร้อมมากที่สุด
ผู้อำนวยการ กล่าวต่อไปว่า การกำหนดประเภทและรูปแบบสลากกินแบ่งรัฐบาล 6 หลัก (L6) วิธีการจำหน่ายและการซื้อสลากยังเป็นรูปแบบเดิม ผู้ซื้อและตัวแทนจำหน่ายสลากเดิม จะไม่ได้รับผลกระทบ เพียงแต่เป็นการปรับกระบวนการทำงานให้คล่องตัวมากขึ้น เพื่อรองรับการจำหน่ายสลากดิจิทัลที่เพิ่มขึ้นในระยะต่อไป อีกทั้งไม่ต้องพิมพ์สลากเป็นแบบใบเพื่อมาสแกนเข้าระบบก่อน สามารถจำหน่ายสลากดิจิทัลได้ทันทีในจำนวนที่เหมาะสม โดยไม่มีกรอบดำเนินการ 100 ล้านใบเป็นตัวกำหนด เช่น ปัจจุบันขายสลากรูปแบบใบ 80.4 ล้านฉบับ และ ดิจิทัล 19.6 ล้านฉบับ ก็สามารถเพิ่มสลากดิจิทัลอีกได้ โดยไม่ต้องไปรอลดสัดส่วนสลากแบบใบอีกต่อไป และที่สำคัญ
สำหรับการจำหน่ายสลากดิจิทัลที่จำหน่ายบนแอปพลิเคชันเป๋าตังในปี 2566 ยังเป็นไปตามแนวทางที่ประชุมคณะกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2566 ที่มีนายลวรณ แสงสนิท อธิบดีกรมสรรพากร ในฐานะประธานกรรมการสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นประธาน โดยคาดว่าจะจำหน่ายได้ไม่น้อยกว่า 25-30 ล้านใบต่องวด จากปัจจุบันอยู่ที่ 19.6 ล้านฉบับ ซึ่งจะพิจารณาให้สอดคล้องกับความต้องการที่แท้จริงของผู้ซื้อ และความต้องการขายให้เหมาะสม