วันนี้ (23 ก.ค. 66) น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้ความสำคัญและเร่งติดตามความคืบหน้าของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมในทุกมิติอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านการแข่งขัน เพิ่มโอกาสด้านการค้า การลงทุนและการท่องเที่ยว รองรับการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
ทั้งนี้ นับจากปี 2559 เป็นต้นมา พล.อ.ประยุทธ์ได้ขับเคลื่อนโครงการรถไฟทางคู่ ระยะเร่งด่วน 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 993 กิโลเมตร ปัจจุบันดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการได้แล้ว 2 โครงการ ได้แก่ 1. ช่วงชุมทางฉะเชิงเทรา - ชุมทางคลองสิบเก้า - ชุมทางแก่งคอย ระยะทาง 106 กิโลเมตร เปิดให้บริการไปแล้วเมื่อปี 2562 2. ช่วงชุมทางถนนจิระ - ขอนแก่น ระยะทาง 187 กิโลเมตร เปิดให้บริการแล้ว เมื่อปี 2563 คงเหลืออีก 5 เส้นทางโดยที่อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้างและใกล้แล้วเสร็จ 3 โครงการ คือ โครงการช่วงนครปฐม - หัวหิน โครงการช่วงหัวหิน - ประจวบคีรีขันธ์ และโครงการช่วงประจวบคีรีขันธ์ – ชุมพร ซึ่งในภาพรวมของทั้ง 3 โครงการ ในส่วนของงานโยธาได้ดำเนินการใกล้เสร็จครบทั้งหมด และเริ่มมีการทดลองเปิดใช้ทางคู่ใหม่บางช่วงเพื่อทดสอบระบบทางไปแล้ว โดย มีแผนเปิดใช้งานจริงช่วงเดือนกันยายน 2566 เริ่มจากสถานีนครปฐม ถึงสถานีสะพลี อำเภอปะทิว จังหวัดชุมพร ระยะทางประมาณ 400 กิโลเมตร จากนั้นจะขยายไปจนถึงปลายทางที่สถานีชุมพรในปลายเดือน ธันวาคม 2566 ซึ่งจะดำเนินการคู่ขนานไปกับงานติดตั้งระบบอาณัติสัญญาณและโทรคมนาคม และตั้งเป้าหมายจะเปิดใช้งานได้เต็มระบบภายในปี 2568
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 2 โครงการ ได้แก่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ และช่วงมาบกะเบา-ชุมทางถนนจิระ นอกจากนี้ยังมีโครงการก่อสร้างทางรถไฟสายใหม่ 2 โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ในช่วงเด่นชัย - เชียงราย - เชียงของ และช่วงบ้านไผ่ - มุกดาหาร – นครพนม ทั้งนี้เมื่อการก่อสร้างโครงการรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน 7 เส้นทาง และเส้นทางสายใหม่ 2 เส้นทางแล้วเสร็จ จะช่วยเพิ่มสัดส่วนทางคู่ทั่วประเทศมากถึง 10 เท่า หรือคิดเป็น 65% ของระยะทางรวมทั้งหมด มากกว่าเดิมที่มีทางคู่เพียง 6 % อีกทั้งยังช่วยร่นระยะเวลาการเดินทางได้ 1–1.50 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังมีรถไฟทางคู่ระยะที่ 2 อีก 7 เส้นทาง รวม 1,483 กิโลเมตร ได้แก่ ช่วงปากน้ำโพ - เด่นชัย ช่วงขอนแก่น - หนองคาย ช่วงชุมทางถนนจิระ - อุบลราชธานี ช่วงชุมพร – สุราษฎร์ธานี ช่วงสุราษฎร์ธานี - ชุมทางหาดใหญ่ – สงขลา ช่วงชุมทางหาดใหญ่ - ปาดังเบซาร์ และช่วงเด่นชัย – เชียงใหม่
“ถือเป็นผลงานที่เป็นรูปธรรมของพล.อ.ประยุทธ์ ในการเพิ่มศักยภาพการให้บริการขนส่งระบบราง ลดต้นทุนการขนส่งระบบโลจิสติก เชื่อมโยงเครือข่ายระบบขนส่งมวลชนสินค้าและบริการ ทั้งในพื้นที่ชนบท เมือง ตลอดจนประเทศเพื่อนบ้าน ประหยัดเวลาในการเดินทางได้อย่างชัดเจน ทั้งยังประหยัดพลังงาน ลดปัญหามลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ยกระดับคุณภาพชีวิต ขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน”น.ส.ทิพานัน กล่าว