โฆษกรัฐบาลเผย กษ.เดินหน้านโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาล ดันเพิ่มรายได้ภาคการเกษตรเป็น 3 เท่าใน 4 ปี ด้วยกลยุทธ์ตลาดนำ-นวัตกรรมเสริม-เพิ่มรายได้ ส่งเสริมผลิตถั่วเหลืองทดแทนการนำเข้าปีละ 3 ล้านตัน ปั้นโมเดลต้นแบบเพิ่มผลผลิตที่ จ.เชียงใหม่ เตรียมขยายผล
วันนี้ (5 พ.ย.66) นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) ได้เดินหน้านโยบายแก้ไขปัญหาการนำเข้าและส่งออกสินค้าที่ผิดกฎหมาย ด้วยการขับเคลื่อนนโยบาย 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ปั้นโมเดลต้นแบบ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ สู่เมืองหลวงถั่วเหลืองของไทย โดยเมื่อเร็ว ๆ นี้ ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่มอบนโยบายและพบปะเกษตรกร พร้อมลงแปลงสาธิตการปลูกถั่วเหลืองด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม ณ แปลงสาธิตเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ เพื่อส่งเสริมให้นักศึกษาและเกษตรกรได้มีความรู้ความเข้าใจถึงศักยภาพของถั่วเหลืองไทยและต่อยอดร่วมกัน รวมทั้งร้อยเอก ธรรมนัส ได้เป็นประธานเปิดงาน “นวัตกรรมเสริมแกร่งถั่วเหลืองไทย เพิ่มรายได้เกษตรกร” ซึ่งมีการออกบูธนิทรรศการ การเสวนา และการนำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมมอบปัจจัยการผลิต โดยนำร่องพื้นที่ อ.แม่แตง เป็นโมเดลต้นแบบ ยกระดับพืชเศรษฐกิจถั่วเหลืองไทย ผลักดันสู่ 1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ตามนโยบายของ กษ. สอดคล้องนโยบาย ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ของรัฐบาล ทั้งนี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้มอบโล่รางวัลนักปลูกถั่วเหลืองมือทองประจำปี 2566 จำนวน 5 รางวัล ให้แก่เกษตรกรที่ประสบผลสำเร็จในการปลูกถั่วเหลืองให้ได้ผลผลิตสูงเป็นปีแรก ณ นิคมสหกรณ์แม่แตง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ โดยเกษตรกรที่ได้รับรางวัลอันดับ 1 คือนายสุทิน แสงมณี เกษตรกรจากหมู่บ้านสันป่ายาง อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ ได้ผลผลิตเฉลี่ย 492 กก./ไร่
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมาสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กษ. ได้ร่วมกับสมาคมการค้าผู้ผลิตอาหารจากถั่วเหลืองไทย และสมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว ดำเนินการโครงการนำร่องโมเดลเพิ่มผลผลิต และลดต้นทุนการปลูกถั่วเหลืองเพื่อสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร ที่ จ.เชียงใหม่ โดยเน้นส่งเสริมถั่วเหลืองพันธุ์เชียงใหม่ 60 ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ผู้ประกอบการนิยมใช้ โดยผลจากการดำเนินโครงการดังกล่าว ในพื้นที่ อ.แม่ริม และ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ มีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการนำร่องดังกล่าวจำนวน 26 ราย พบว่า สามารถส่งเสริมเกษตรกรปลูกถั่วเหลืองให้ได้ผลผลิตต่อไร่เกิน 400 กก. จำนวน 12 ราย และได้ผลผลิตต่อไร่เกิน 300 กก. จำนวน 12 ราย ซึ่งมากกว่าผลผลิตเฉลี่ยทั้งประเทศที่ 267 กก. ต่อไร่ และถ้าผลผลิตเพิ่มขึ้นไร่ละ 300 - 400 กก. เกษตรกรจะได้ผลตอบแทนสุทธิ หรือกำไร ประมาณไร่ละ 3,500 - 4,700 บาท ซึ่งมากกว่าผลตอบแทนสุทธิของข้าวเหนียว
“การดำเนินงานดังกล่าวของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะเป็นส่วนหนึ่งที่ผลักดันให้เกษตรกรสนใจและหันมาปลูกถั่วเหลืองเพิ่มขึ้น ได้ผลผลิตที่สูง เกษตรกรมีรายได้ดี มีความกินดีอยู่ดี ตรงกับนโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาลที่ว่า เพิ่มรายได้ภาคการเกษตรเป็น 3 เท่าใน 4 ปี ด้วยกลยุทธ์ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้ โดยส่งเสริมการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยกว่าข้าว แต่ให้ผลตอบแทนต่อไร่สูงกว่า หนึ่งในนั้นคือการผลิตถั่วเหลืองทดแทนการนำเข้าถั่วเหลืองได้ปีละ 3 ล้านตัน ทั้งนี้ การส่งเสริมโมเดลการเพิ่มผลผลิตและลดต้นทุนการผลิต เพื่อเป็นทางเลือกให้เกษตรกรนำไปประยุกต์ใช้ในการปลูกถั่วเหลืองในพื้นที่ตนเอง และเพื่อเพิ่มวัตถุดิบป้อนเข้าสู่อุตสาหกรรม ปูทางลดการนำเข้า และเพิ่มรายได้ให้แก่เกษตรกร ในพื้นที่ อ.แม่แตง และ อ.แม่ริม เป็นพื้นที่นำร่องและเป็นโมเดลต้นแบบในการส่งเสริมการปลูกถั่วเหลืองโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม ซึ่ง สศก.จะร่วมมือกับหน่วยงานและภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อขับเคลื่อนและขยายผลโครงการไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในระยะต่อไป” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าว
ทั้งนี้ ถั่วเหลืองนับเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ เนื่องจากเป็นวัตถุดิบที่สามารถผลิตหรือแปรรูปผลิตภัณฑ์ได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นใช้สกัดน้ำมัน แปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร หรือผลิตอาหารสัตว์ จึงทำให้เป็นที่ต้องการของผู้ประกอบการ อีกทั้งถั่วเหลืองเป็นพืชที่ใช้น้ำน้อย เหมาะกับพื้นที่ที่มีน้ำเพื่อการเกษตรไม่มาก หรือนอกเขตชลประทาน ที่สำคัญถั่วเหลืองยังช่วยบำรุงดิน เพิ่มธาตุอาหารในดิน ลดการใช้ปุ๋ยในการปลูกพืชฤดูถัดไป
แต่ปัจจุบันประเทศไทยกลับสามารถผลิตถั่วเหลืองได้เพียง 2 - 3 หมื่นตันต่อปี และยังได้ผลผลผลิตต่อไร่ต่ำ ทั้งที่มีความต้องการใช้ถั่วเหลืองมากถึง 3.2 ล้านตันต่อปี จึงทำให้ยังคงต้องพึ่งพาการนำเข้ามากถึง 99% กษ. โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และหน่วยงานในสังกัด กษ. ได้ร่วมกับสมาคมการค้าผู้ผลิตอาหารจากถั่วเหลืองไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำมันถั่วเหลืองและรำข้าว รวมทั้งเกษตรกรผู้ปลูกถั่วเหลือง ร่วมกันศึกษา วิเคราะห์ วิจัย นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมสมัยใหม่มาส่งเสริมผลผลิตถั่วเหลืองให้ได้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น จนสามารถเพิ่มผลผลิตจาก 267 กิโลกรัม/ไร่ เพิ่มเป็น 300 - 400 กิโลกรัม/ไร่ เป็นผลสำเร็จ