นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย เมื่อวันที่ 14 พ.ย.2566 ว่า คณะกรรมการได้หารือแนวทางแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนไทย โดยเฉพาะประเด็นหนี้กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) ที่จะต้องได้รับการปรับหนี้ให้เป็นไปตามข้อกำหนดใน พ.ร.บ.กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2566 ที่มีผลบังคับใช้ไปเมื่อวันที่ 20 มี.ค.2566 ให้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ไม่เกิน 1% ต่อปี กรณีผิดนัดชำระจะปรับลดอัตราดอกเบี้ยปรับจาก 7.5% เหลือ 0.5% ต่อปี และไม่ต้องมีผู้ค้ำประกัน
รวมทั้งให้มีการปรับลำดับการตัดชำระหนี้ใหม่ ให้หักชำระเงินต้นเฉพาะส่วนที่ครบกำหนด จากนั้นเป็นดอกเบี้ยหรือประโยชน์อื่นใด และเงินเพิ่มตามลำดับ
รวมทั้งขณะนี้มีการประกาศกฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว ต่อไปจะเร่งรัดให้มีการคำนวณภาระหนี้ใหม่ (recalculation) ให้กับผู้กู้ กยศ.ทุกรายนับตั้งแต่ที่กฎหมายบังคับใช้ ปัจจุบันมีผู้กู้ กยศ.ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3.5 ล้านราย คิดเป็นมูลหนี้กว่า 4 แสนล้านบาท โดยจะเร่งดำเนินการให้กับ 2 กลุ่มเร่งด่วน ดังนี้
1.กลุ่มที่อยู่ในชั้นกรมบังคับคดี 4.6 หมื่นราย
และ 2.กลุ่มที่คดีใกล้หมดอายุความอีกราว 4 หมื่นราย ให้มีการคำนวณภาระหนี้ใหม่ก่อน ซึ่งบางรายอาจจะเหลือยอดน้อยลงอย่างมาก หรืออาจชำระหมดแล้วด้วย โดยจะให้ผู้กู้ได้เห็นยอดหนี้ใหม่ภายในเดือนธ.ค.นี้ เป็นของขวัญให้กับประชาชน และจะเร่งพัฒนาระบบคำนวณให้แล้วเสร็จภายใน 5 เดือน
นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า การคำนวณภาระหนี้ใหม่จะทำให้ผู้กู้ที่ชำระหนี้แล้วเกิน 150% ของเงินต้น มีแนวโน้มที่จะชำระหนี้ครบแล้วทั้งหมด เช่น เงินต้น 1 แสนบาท ผ่อนชำระแล้ว 1.5 แสนบาท ซึ่งตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่จะทำให้ผู้กู้ กยศ.ได้ประโยชน์มากขึ้น โดยหลังจากคำนวณอัตราดอกเบี้ยใหม่แล้วหากมีการชำระเกิน กองทุน กยศ.ก็จะคืนเงินส่วนเกินนั้นให้กับผู้กู้
อยู่ระหว่างจ่ายหนี้ 3 ล้านคน
ทั้งนี้ สถิติข้อมูล กยศ.วันที่ 30 ก.ย.2566 มีจำนวนผู้กู้ กยศ. ทั้งหมด 6,739,085 ราย แบ่งเป็น ผู้ที่อยู่ระหว่างการชำระหนี้ 3,537,022 ราย สัดส่วน 53% อยู่ในช่วงปลอดหนี้ 1,299,490 ราย สัดส่วน 19% ชำระหนี้เสร็จสิ้น 1,830,978 ราย สัดส่วน 27% และเสียชีวิต/ทุพพลภาพ 71,595 ราย สัดส่วน 1%
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน กยศ.ได้มีการขยายกรอบวงเงินให้กู้ยืมปีการศึกษา 2566 จากเดิมที่กำหนดไว้ 40,790 ล้านบาท เป็นจำนวน 46,168 ล้านบาท เพื่อรองรับผู้ขอกู้ยืมที่เพิ่มขึ้น และเตรียมนำร่องการกู้ยืมหลักสูตรอาชีพระยะสั้น (Reskill Upskill) เพื่อขยายโอกาสทางการศึกษาตาม พ.ร.บ.กยศ. ฉบับใหม่
โดยในปีนี้มีผลการรับชำระหนี้ 25,719 ล้านบาท (ยอด ณ วันที่ 12 ก.ย.66) และกองทุนเตรียมทำสัญญาระงับข้อพิพาทก่อนฟ้อง และสัญญาปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ก่อนฟ้อง และหลังฟ้องทุกกลุ่มในปลายปี 2566 นี้
นายชัยณรงค์ กัจฉปานันท์ ผู้จัดการกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) เปิดเผยว่า คณะกรรมการกองทุนได้มีมติอนุมัติขยายกรอบการให้กู้ยืมในปีการศึกษา 2566 จากเดิมที่กำหนดไว้ 40,790 ล้านบาท เป็นจำนวนเงิน 46,168 ล้านบาท เพื่อรองรับนักเรียน นักศึกษาผู้กู้ยืมจากเดิม 643,256 ราย เนื่องจากมีจำนวนผู้ยื่นขอกู้ยืมเพิ่มขึ้นมากกว่าที่ประมาณการไว้กว่า 117,000 ราย รวมจำนวนผู้กู้ยืมทั้งสิ้น 760,256 ราย และเพื่อเป็นการช่วยเหลือนักเรียน นักศึกษาและผู้ปกครองที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ
เร่งแก้ปัญหาหนี้ค้างชำระ
รวมทั้งตลอดปีที่ผ่านมา กองทุนได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาหนี้ค้างชำระของผู้กู้ยืมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ กฎหมายที่ได้แก้ไขใหม่ได้กำหนดให้กองทุนคิดอัตราดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 1 ต่อปี อัตราเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระไม่เกิน 0.5% ต่อปี ไม่ต้องมีผู้ค้ำประกันในทุกกรณี ปรับลำดับการตัดชำระหนี้ใหม่โดยหักจากเงินต้น ดอกเบี้ย และเบี้ยปรับตามลำดับ
รวมถึงผู้กู้ยืมสามารถขอปรับโครงสร้างหนี้ เพื่อขยายระยะเวลาผ่อนชำระหนี้ได้ตามเงื่อนไขที่กองทุนกำหนด สำหรับการปรับโครงสร้างหนี้ตาม พ.ร.บ.ฉบับใหม่ โดยกองทุนคาดว่าจะเปิดทำสัญญาระงับข้อพิพาทก่อนฟ้องและสัญญาปรับโครงสร้างหนี้สำหรับลูกหนี้ก่อนฟ้อง และหลังฟ้องทุกกลุ่มเข้ามาดำเนินการได้ในช่วงปลายปีนี้ และจะปลดภาระผู้ค้ำประกันเมื่อผู้กู้ยืมเงินได้ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้แล้วเสร็จ
ทั้งนี้ ปัจจุบันกองทุนได้ให้โอกาสแก่นักเรียน นักศึกษาทั่วประเทศไปแล้วทั้งสิ้น 6.5 ล้านราย เป็นเงิน ให้กู้ยืมกว่า 734,127 ล้านบาท สำหรับภาพรวมการรับชำระหนี้ในปีนี้ กองทุนได้รับชำระเงินคืนจำนวน 25,719 ล้านบาท
ข้อมูลจาก bangkokbiznews.com