นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า รัฐบาลมุ่งขยายสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สิทธิบัตรทอง 30 บาท ผ่านโครงการ “30 บาท รักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” เริ่มตั้งแต่วันที่ 7 มกราคม 2567 เป็นต้นไป นำร่องใน 4 จังหวัด ได้แก่ แพร่ ร้อยเอ็ด เพชรบุรี และนราธิวาส โดยผู้ป่วยสามารถใช้บัตรประชาชนใบเดียวเพื่อเข้ารับการรักษาได้ (ไม่ต้องใช้ใบส่งตัว) ที่หน่วยบริการทุกแห่งในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ครอบคลุมทั้งโรงพยาบาลของรัฐ และสถานพยาบาลเอกชน พร้อมปรับระบบ พัฒนาระบบบริการและเชื่อมโยงฐานข้อมูลสุขภาพ อำนวยความสะดวก ยกระดับการส่งเสริมสุขภาพ เพิ่มการเข้าถึงบริการสาธารณสุขให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าวว่า โครงการดังกล่าวเป็นการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณสุขที่ให้ความสำคัญกับสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนในการรับบริการสุขภาพเมื่อเจ็บป่วยและส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรค โดยผู้ที่ต้องการเข้ารับบริการใน 4 จังหวัดนำร่อง แพร่ – ร้อยเอ็ด - เพชรบุรี – นราธิวาส มีวิธีและขั้นตอนการเข้ารับบริการ ตามแนวทางของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ดังนี้
- ใช้บัตรประชาชนเพียงใบเดียว ยื่นแสดงตนต่อหน่วยบริการทุกแห่งที่ขึ้นทะเบียนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งการ Walk-in หรือ นัดคิวออนไลน์ผ่านแอป-ไลน์หมอพร้อม (กรณีเด็กเล็ก ใช้สูติบัตรพร้อมบัตรประชาชนผู้ปกครอง)
- รับการดูแลและรักษาตามขั้นตอนของแต่ละหน่วยบริการ และเมื่อรับบริการเสร็จ ระบบจะบันทึกประวัติการรับบริการโดยอัตโนมัติ
- กรณีที่ผู้ป่วยต้องรับยา สามารถเลือกรับยาได้ 3 ช่องทาง ได้แก่ ห้องจ่ายยาของโรงพยาบาล ร้านยาใกล้บ้าน หรือ ส่งยาทางไปรษณีย์
- กรณีผู้ป่วยเดิมและมีนัดรับบริการกับทางหน่วยบริการอยู่แล้ว ให้เข้ารับบริการ ณ จุดที่นัดหมายได้เลย (ไม่ต้องทำการตรวจสอบสิทธิและยืนยันตัวตนก่อนเข้ารับบริการ โดยเปลี่ยนเป็น “การยืนยันตัวตนหลังรับบริการ” เมื่อผู้ป่วยรับบริการสิ้นสุดที่จุดใด ยืนยันตัวตนที่จุดนั้นได้เลย)
- กรณีที่เกิดภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติถึงแก่ชีวิต สามารถใช้สิทธิ UCEP (Universal Coverage for Emergency Patients) เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตมีสิทธิทุกที่ ซึ่งเป็นสิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐบาลเพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตถึงแก่ชีวิตให้สามารถเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลทุกแห่ง ไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชนที่ใกล้ที่สุดได้ โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย จนพ้นวิกฤตหรือสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย โดยยื่นบัตรประชาชน และแจ้งใช้สิทธิ UCEP
โดยนอกเหนือจากโรงพยาบาลของรัฐ ประชาชนยังสามารถเลือกรับบริการได้ผ่านสถานพยาบาลเอกชนที่ขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพฯ อีก 6 ประเภท 1.ร้านยา 2. คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ 3. คลินิกเวชกรรม 4. คลินิกทันตกรรม 5. คลินิกการแพทย์แผนไทย 6. คลินิกเทคนิคการแพทย์ ปัจจุบันมีหน่วยบริการเข้าร่วมแล้ว 451 แห่ง ทั้งนี้ สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม และตรวจสอบรายชื่อหน่วยบริการเอกชน 4 จังหวัดบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330, เว็บไซต์ สปสช.
https://www.nhso.go.th/page/Innovative-services-4-provinces , ไลน์ สปสช. พิมพ์ไลน์ไอดี @nhso หรือคลิก
https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
https://www.facebook.com/NHSO.Thailand
นอกจากนี้ กระทรวงสาธารณสุขยังมีแนวทางที่จะเตรียมขยายโครงการฯ ระยะที่ 2 เพิ่มเติมอีก 8 จังหวัด ภายในเดือนมีนาคม 2567 ได้แก่ เพชรบูรณ์ นครสวรรค์ สิงห์บุรี สระแก้ว หนองบัวลำภู นครราชสีมา อำนาจเจริญ และพังงา อีกทั้ง สปสช. จะเพิ่มจำนวนร้านยาบริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 กลุ่มอาการ จากปัจจุบันที่มีอยู่ ประมาณ 2,000 แห่ง ให้เป็น 5,000 แห่งภายในปี 2567 นี้ รวมไปถึงหน่วยบริการทั่วประเทศ เช่น คลินิกทันตแพทย์ 5,000 แห่ง คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น 5,000 แห่ง ฯลฯ จะนำเข้ามาในระบบต่อไป
“นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเชื่อมั่นว่า โครงการ 30 บาท รักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว จะช่วยให้คนไทยทุกคนได้รับการดูแลสุขภาพที่ทั่วถึง มีคุณภาพชีวิตที่ดี ลดความเหลื่อมล้ำ รัฐบาลตั้งใจยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเพื่อให้ประชาชน ทุกกลุ่ม ทุกพื้นที่ สามารถเข้าถึงสถานพยาบาลได้ทุกแห่งทั้งรัฐและเอกชน ช่วยลดความแออัดในแต่ละสถานพยาบาล ลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประชาชน เป็นการสร้างรากฐานความมั่นคงทางสุขภาพ ที่จะช่วยส่งเสริมให้ประชาชนสามารถใช้ศักยภาพที่มีอยู่ได้อย่างเต็มที่เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศได้ต่อไป” นายชัย กล่าว