24 มกราคม 2567 – พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยผู้บริหารองค์กรหลักกระทรวงศึกษาธิการ แถลงข่าวประเด็นมติคณะรัฐมนตรี (23 มกราคม 2567) เห็นชอบการยกเว้นให้ครูอยู่เวรรักษาการณ์ ทั้งข้าราชการครูในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) และกระทรวงมหาดไทย (มท.)
รมว.ศธ. กล่าวว่า ในนามกระทรวงศึกษาธิการ พร้อมด้วยครูและบุคลากรทางการศึกษา ขอขอบคุณ นายกรัฐมนตรี “เศรษฐา ทวีสิน” สำหรับมติสำคัญทางการศึกษา ที่เห็นชอบ “ยกเลิกครูเวร” ถือเป็นการพิจารณาในเรื่องของการป้องกันรักษาความเสียหายจากเหตุภัยอันตรายในชีวิตและร่างกายครู เพราะครูมีภาระงานที่ต้องสอนหนังสือเป็นหลัก บางทีโรงเรียนขนาดเล็กมีบุคลากรค่อนข้างน้อย ครูอาจทำหน้าที่หลายด้าน รวมถึงการอยู่เวรนอกเวลาราชการที่มีความสุ่มเสี่ยง
โดย ครม.ได้มีมติให้หน่วยงานที่มีหน้าที่หลักในการดูแลความเดือดร้อนของประชาชนภายในประเทศ ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และฝ่ายปกครอง กระทรวงมหาดไทย เข้ามาช่วยดูแลในเรื่องรักษาความสงบเรียบร้อยบริเวณสถานศึกษา เพิ่มจุดเน้นขึ้นมา เช่นเดียวสถาบันทางการเงินหรือร้านทองที่จะต้องมีเจ้าหน้าที่ในการดูแลเป็นพิเศษ
มติ ครม.ในประเด็นนี้ จึงเป็นเรื่องสำคัญและเกิดการเปลี่ยนแปลงให้เห็นชัดเจน ครูจะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องความปลอดภัยในสถานศึกษา จึงอยากขอบคุณนายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีเป็นอย่างสูง
ทั้งนี้ ในส่วนของ ศธ. ได้มีหนังสือประสานไปที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และ มท. ในการที่จะดำเนินการบูรณาการรักษาความปลอดภัยร่วมกันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ส่วนในระดับพื้นที่ ได้แจ้งให้ศึกษาธิการจังหวัดทั่วประเทศเป็นเจ้าภาพในการประสานงานกับผู้ว่าราชการจังหวัดและผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด เพื่อให้การดำเนินงานรวดเร็วขึ้น ทั้งในระดับบน ระดับกลาง และระดับพื้นที่อย่างครอบคลุม โดยได้สั่งการให้มีการประชุมคณะกรรมการสถานศึกษาทุกแห่งภายในสัปดาห์นี้ และเชิญตำรวจ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ชุมชน ร่วมหารือในมาตรการป้องกันความปลอดภัยกับสถานที่ราชการเพื่อเป็นการรองรับมติด้วย
ที่สำคัญเมื่อมีมติ ครม. เรื่องการยกเว้นครูเวรออกมาแล้ว การไม่อยู่เวรของครูจะไม่มีความผิด ตามระเบียบเดิมข้อ 8 ที่หากไม่ปฏิบัติการจะต้องถูกดำเนินการทางวินัย ครูสามารถไม่อยู่เวรได้ทันที หลังมีมติ ครม. และไม่ต้องกังวลว่าการที่ไม่มีครูเข้าเวรแล้วสถานที่ราชการจะไม่มีความปลอดภัย เพราะ ศธ. ได้ประสานการดำเนินการเพื่อรองรับในส่วนนี้แล้ว และจะดำเนินการแก้ไขปรับปรุงระเบียบคำสั่งที่เกี่ยวข้องเพื่อรองรับมติดังกล่าวด้วย
ต่อคำถามจากสื่อมวลชนถึงแนวปฏิบัติ เพราะความเห็นในสื่อออนไลน์ ยังมีคุณครูที่ต้องอยู่เวรหลังจาก มติ ครม. ออกมาแล้ว รมว. ศธ. ตอบว่า ต่อไปนี้การอยู่เวรหรือไม่อยู่เวรในสถานศึกษา เป็นเรื่องการสมัครใจแล้ว และการไม่ได้อยู่เวรก็จะไม่มีความผิดทางวินัย เพราะมติ ครม.ใหญ่ที่สุด ในส่วนราชการต้องปฏิบัติตามโดยทันที ส่วนครูจะเข้ามาปฎิบัติหน้าที่ในสถานศึกษานอกเวลา ถือเป็นสิทธิของครู แต่จะกำชับในเรื่องของความปลอดภัยส่วนบุคคลด้วย เพื่อป้องกันเหตุฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น แม้จะยกเลิกการอยู่เวรแล้วก็ตาม แต่ก็อยากให้ระมัดระวังในส่วนนี้ด้วย เพราะความปลอดภัยในชีวิตและร่างกายเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ไม่สามารถที่จะแก้ไขหรือทดแทนได้
และก่อนที่จะมีมติ ครม. ออกมานั้น ศธ.ได้ประสานงานล่วงหน้าไว้แล้วในการทำงานเชิงภาคี แต่ตอนนี้เป็นรูปธรรมมากขึ้นเพราะเป็นสภาพบังคับ ซึ่งที่ผ่านมาเราดำเนินการในลักษณะขอความร่วมมือมีการประสานงานกับส่วนอื่น เมื่อมีมติ ครม.ออกมา หน่วยงานที่รับผิดชอบในการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ จะต้องมาพิจารณาดูเพิ่มความเข้มงวดขึ้นกว่าเดิม เพราะถึงแม้จะมีกล้องวงจรปิดแล้วก็ตาม ก็ช่วยได้ในระดับหนึ่งในการเก็บหลักฐาน ในการติดตามผู้กระทำผิด แต่ไม่ได้ช่วยในการป้องกัน หากผู้ร้ายไม่เกรงกลัวที่จะเข้ามากระทำความผิด แต่การที่เรามีเจ้าหน้าที่แต่งเครื่องแบบไปปรากฏกาย เป็นเรื่องสำคัญที่จะเป็นการป้องกันไม่ให้เหตุร้ายเกิดขึ้น การปฎิบัติของตำรวจและฝ่ายปกครองจึงยังมีความจำเป็นอยู่ ส่วนด้านการปฎิบัติคือ จะมีการตรวจตราตรวจเยี่ยม คล้ายกับการ “ฝากโรงเรียนไว้กับตำรวจ” ให้เจ้าหน้าที่ตำรวจและฝ่ายปกครองเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจตราให้ละเอียดมากขึ้น
ส่วนประเด็นที่จะมีขอเพิ่มตำแหน่งหน้าที่นักการภารโรงในสถานศึกษา ก็จะมาช่วยครูได้มาก สำหรับโรงเรียนขนาดเล็กที่มีครูค่อนข้างน้อย ต้องทำหน้าที่หลายอย่าง หากมีเจ้าหน้าที่นักการภารโรงอยู่ประจำในการช่วยดูแลโรงเรียน ก็จะเป็นการลดภาระครูและคืนครูสู่ชั้นเรียน ครูจะได้สอนหนังสือได้เต็มที่ เพราะตำแหน่งนี้จะเป็นหน้าที่ช่วยเหลือสนับสนุนดูแลและป้องกันเหตุ เพราะส่วนใหญ่นักการภารโรงจะเป็นคนในพื้นที่ จะมีการช่วยตรวจโรงเรียนสะดวกในการแวะเวียนมาทำหน้าที่ จากนี้จะเป็นการรับผิดชอบร่วมกัน ทั้งชุมชนหรือสังคมต้องร่วมดูแลทรัพย์สินของทางราชการที่เป็นทรัพย์สินส่วนรวมต้องช่วยกันดูแลรักษาไม่ใช่หน้าที่ของใครคนใดคนหนึ่ง ไม่ใช่ภาระไม่ใช่การผลักภาระไปให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
ขอยืนยันว่าหลังจากมติ ครม. ออกแล้ว การที่ครูไม่อยู่เวรจะไม่มีความผิด ขอให้สบายใจได้ แต่ที่อยากฝากคือ ถึงแม้ว่าจะยกเลิกการอยู่เวรแล้ว แต่การมาทำงานในสถานศึกษานอกเวลา ก็อยากกำชับว่าขอให้ระมัดระวังตัวเองในด้านความปลอดภัย เพราะสถานการณ์ไม่คาดคิดอาจเกิดขึ้นตอนไหนก็ได้