วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการเร่งรัดการเสนอร่างพระราชบัญญัติเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล (ครน.) โดยมี นางมนพร เจริญศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม นายชัยเกษม นิติสิริ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี นายสมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง นายกิตติกร โล่ห์สุนทร รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง และคณะกรรมการ ครน. เข้าร่วม ที่ทำเนียบรัฐบาล เพื่อติดตามเร่งรัดกฎหมายตามนโยบายของรัฐบาล
โดยนายสมศักดิ์ กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการเร่งรัดร่างพระราชบัญญัติ เมื่อผ่านไป 2-3 สัปดาห์ ตนขอให้ประเมินผลด้วยว่า สามารถเสนอร่าง พ.ร.บ. เข้า ครม. แล้วส่งให้สภาฯพิจารณาแล้วกี่ฉบับ จะได้สามารถติดตามผลได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งสถานะร่าง พ.ร.บ. ของคณะรัฐมนตรี ขณะนี้ แบ่งออกเป็น 1.อยู่ในการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร จำนวน 6 ฉบับ 2.อยู่ในการพิจารณาของ สลค. จำนวน 36 ฉบับ 3.อยู่ในการพิจารณาของหน่วยงาน 18 ฉบับ
นายสมศักดิ์ กล่าวอีกว่า ที่ประชุม ครน. ได้ติดตามความคืบหน้า ร่าง พ.ร.บ. ยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค ที่ขณะนี้ยังมีความเห็นที่ต่างกันอยู่ของหลายหน่วยงาน ที่ประชุมจึงมีมติเชิญ คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติยกเลิกพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2534 ที่มี นายวรวัจน์ เอื้ออภิญญกุล เป็นประธานคณะกรรมาธิการ มาร่วมประชุมกับ ครน. โดยจะมีการเชิญ ธนาคารฯ กระทรวงยุติธรรม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มาชี้แจง ในวันที่ 29 ก.พ. นี้ พร้อมจะมีการหารือถึงมาตรการรองรับ หากต้องยกเลิกด้วย
“ที่ประชุมยังได้มีการพิจารณาแนวทางการยกเลิกประกาศและคำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ขณะนี้ ยังไม่ยกเลิก 167 ฉบับ โดยสามารถมีแนวทางยกเลิกได้ ประกอบด้วย 1.ยกเลิกโดยการตรามาตรา พ.ร.บ. กลางยกเลิก 71 ฉบับ 2.ยกเลิกโดยการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายปัจจุบัน 37 ฉบับ 3.ยกเลิกโดยการตรา พ.ร.ฎ. 2 ฉบับ 4.ยกเลิกโดยการออกกฎกระทรวง 2 ฉบับ และ 5.ยกเลิกโดยทำเป็นมติคณะรัฐมนตรี 55 ฉบับ ซึ่งในส่วนของ 71 ฉบับ ที่ประชุมเห็นตรงกันว่า ให้เดินหน้าทำกฎหมายยกเลิกทั้ง 71 ฉบับ เสนอเข้าสู่ที่ประชุม ครม. หลังรอให้หน่วยงานต่าง ๆ ส่งความเห็นมาว่า คำสั่ง คสช. ใดที่เห็นควรให้มีต่อ แต่ยังไม่มีหน่วยงานใดส่งความเห็นกลับมา ก็แสดงว่า ต้องการยกเลิกทั้งหมด โดยจากนี้ ก็จะสรุปส่งเรื่องเข้าครม.ต่อไป เพื่อให้ทันปิดสมัยประชุมสภาผู้แทนราษฎรนี้” รองนายกรัฐมนตรี กล่าว
ขณะที่ นางมนพร กล่าวว่า จากนี้ ตนได้ประสานไปยังทุกกระทรวง และพรรคการเมือง ให้เสนอร่างกฎหมาย เข้าสู่ที่ประชุมสภาฯ ส่วน ครม.ขอยืนยันว่า พยายามรับกฎหมาย และส่งให้กฤษฎีกา พิจารณาโดยเร็ว เพราะสภาฯจะปิดสมัยประชุม วันที่ 9 เม.ย.67 ซึ่งเหลือเวลาเพียงเดือนเศษ ก็จะมีการผลักดันร่างกฎหมายให้ได้มากที่สุด